ต้องถือเป็นภาพหาชมได้ยาก ยลเห็นได้ลำบาก จนต้องประกาศจารึกไว้ในหน้า “ประวัติศาสตร์การทหารโลก” โดยเฉพาะ “ทัพนาวีระหว่างประเทศ” หกันเลยทีเดียว สำหรับ การฝึกฝนยุทธนาวี หรือซ้อมรบทางทะเล ระหว่าง “กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา” เจ้าของสมญานาม “พญาอินทรี” กับ “กองทัพเรืออังกฤษ” ซึ่งมีฉายาว่า “ผู้ดี” ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังผ่านพ้นการฝึกซ้อมทางการยุทธ์ร่วมกันนานถึง 6 วันเต็ม ณ บริเวณ “ทะเลจีนใต้” น่านน้ำที่กำลังเป็นปัญหาข้อพิพาทอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองจากหลายชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พญามังกร” คือ “จีนแผ่นดินใหญ่” ที่แสดงออกถึงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของหมายครอบครองยิ่งกว่าชาติใดเขาเพื่อน เพราะถึงขนาดสร้างเกาะเทียม พร้อมกับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ แม้กระทั่งฐานที่ตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในทะเลจีนใต้กันเลยทีเดียว ก็ต้องนับเป็น “ครั้งแรก” ของลูกนาวีทัพเรือทั้งสองประเทศ มหาอำนาจโลกจากสองยุคสองสมัย คือ ผู้ดีอังกฤษแต่ครั้งเก่าก่อน กับพญาอินทรีสหรัฐฯในยุคปัจจุบัน ได้ฝึกซ้อมรบ ทั้งเพื่อเสริมสมรรถนะทางทัพเรือ และแสดงแสนยานุภาพทางการทหารแบบข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามกันกลายๆ ของมหาอำนาจสองยุคที่ได้ร่วมจับมือจับไม้กันในฐานะชาติพันธมิตรตั้งแต่ “สงครามโลกครั้งที่ 1” เป็นต้นมา ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึง “อังกฤษ” แม้ในยุคนี้ดูราศีของความเป็นมหาอำนาจโลก ลดน้อยถอยลงไป แต่ถ้าย้อนไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะระเบิดขึ้นแล้ว ต้องบอกว่า นี่คือ มหาอำนาจทางทะเลหมายเลขหนึ่งของโลก ซึ่งพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ เคยรับรู้ถึงพิษสง “เรือปืน” ของอังกฤษมาแล้วเป็นอย่างดี เช่น “สงครามฝิ่น” ที่ “พญามังกรถู สยบ” คือ “พ่ายแพ้” ในมหายุทธ์ดังกล่าว ก่อนตามมาด้วยสนธิสัญญาที่พวกเขาเสียเปรียบสารพัด โดยบรรดากองเรือรบต่างๆ ประดามี ที่ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ ระดมยกพลมา ก็ได้แก่ “เรือพิฆาต” ติดตั้งระบบขีปนาวุธนำวิถี “ยูเอสเอส แม็คแคมพ์เบลล์” ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เรือพิฆาตยูเอสเอสแม็คแคมพ์เบลล์ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ  แล่นใกล้ชายฝั่งของหมู่เกาะพาราเซล ในทะเลจีนใต้ จนถูกทางการจีนแผ่นดินใหญ่ตำหนิประณาม ขณะที่ กองทัพเรือผู้ดีอังกฤษ ก็ส่ง “เรือฟริเกต” มีระบบขีปนาวุธนำวิถีอีกเช่นกัน “เอชเอ็มเอส อาร์กีลล์” นำเรือรบอื่นๆ มาฝึกซ้อมการยุทธ์ร่วมกัน เรือฟริเกตเอชเอ็มเอสอาร์กีลล์ ของกองทัพเรืออังกฤษ ทั้งนี้ ก่อนหน้าการซ้อมรบไม่ถึงสัปดาห์ “เรือพิฆาตยูเอสเอส แม็คแคมพ์เบลล์” มาตระเวนใกล้กับ “หมู่เกาะพาราเซล” หนึ่งในหมู่เกาะที่เป็นดินแดนพิพาทย่านทะเลจีนใต้ โดยแล่นห่างจากชายฝั่งของหมู่เกาะเพียง 12 ไมล์ทะเล เท่านั้น จนทำให้รัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ต้องออกอาการเต้นผางด้วยความโกรธเกรี้ยว ก่อนตำหนิประณามต่อสหรัฐฯ ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ในกรุงปักกิ่ง ว่า สหรัฐฯ รุกล้ำน่านน้ำของจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกันนั้น ก็ได้ส่ง “ดีเอฟ-26” ขีปนาวุธซึ่งมีฉายาว่า เพชฌฆาตสังหารเกาะกวม” มาประจำการยังทะเลจีนใต้ โดยขีปนาวุธรุ่นนี้มีศักยภาพโจมตีทำลายล้างเรือรบขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ด้วย มาข่มขวัญเป็นการตอบโต้ ขีปนาวุธแบบดีเอฟ-26 ของกองทัพจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เคลื่อนมาประจำการในฐานทัพของพวกเขาบนเกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ ทว่า หาได้หยุดยั้งบรรดาเรือรบของสหรัฐฯ รวมถึงของอังกฤษ มาตระเวนยังน่านน้ำเจ้าปัญหาแห่งนี้ไม่ โดยกองเรือรบจากสองชาติยังคงลอยล่อง ก่อนดำเนินฝึกซ้อมรบในอีกสัปดาห์ถัดมาอีกต่างหากด้วย ทั้งนี้ แหล่งจากกองทัพเรือสหรัฐฯ เปิดเผยต่อบรรดาสำนักข่าวต่างประเทศว่า การมาของกองเรือรบดังกล่าว นอกจากเพื่อการซ้อมรบแล้ว ก็ยังเป็นปฏิบัติการเพื่อสงวนเส้นทางการเดินเรือในทะเลจีนใต้ให้เป็นไปตาม “กฎหมายระหว่างประเทศ” ในฐานะ “น่านน้ำสากล” มิใช่ชาติใดชาติหนึ่งออกมาอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง เกาะแห่งหนึ่งในหมู่เกาะพาราเซล ทะเลจีนใต้ ที่จีนแผ่นดินใหญ่ อ้างกรรมสิทธิ์ครอบครอง ก่อนสร้างเกาะเทียมขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ นาวาโทหญิง “แอลลิสัน คริสตี” แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นโอกาสที่หาได้ยาก ที่กองทัพเรือได้ร่วมฝึกซ้อมรบในทะเลจีนใต้อย่างที่เป็นอยู่นี้ โดยในวาระของการฝึกฝน ก็เพื่อฝึกซ้อมเตรียมพร้อมรับมือกับการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงในทะเลจีนใต้ รวมถึงภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก แหล่งจากกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า การซ้อมรบที่มีขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นการซักซ้อมในความร่วมมือทางการทหารแบบ “ทวิภาคี” ในน่านน้ำทะเลจีนใต้แห่งนี้ ซึ่งมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้ฝึกซ้อมกันในแบบ “ไตรภาคี” คือ ร่วมมือกันระหว่าง 3 ชาติพันธมิตร อันประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น กันมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากซ้อมรบทางนาวีทั่ๆ ไปแล้ว ก็ยังฝึกฝนด้านการรบแบบใต้น้ำ คือ การยุทธ์ทำสงครามด้วยกองเรือดำน้ำกันอีกด้วย ทั้งนี้ การแสดงแสนยานุภาพและการซ้อมรบบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งมีขึ้นบ่อยครั้งของเหล่าชาติมหาอำนาจในช่วงนี้ แถมมีท่าทีว่าจะถี่มากขึ้นด้วยนั้น ล้วนมีหมุดหมายในแต่ละชาติแตกต่างกันไป โดยจีนแผ่นดินใหญ่นั้น แทบจะไม่ต้องพูดถึงเพราะเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งมีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนทางฟากสหรัฐฯ นั้น ก็เพื่อยังคงความมีอิทธิพลในภูมิภาคแห่งนี้ ทางด้านญี่ปุ่น ก็เพื่อประชันอิทธิพลบารมีกับจีนแผ่นดินใหญ่ อันทำให้ญี่ปุ่น มิอาจอยู่แต่ในหมู่เกาะของตนเองได้ ขณะที่ อังกฤษ ก็เริ่มหมายตาที่จะขยายฐานทัพในเอเชีย – แปซิฟิกแห่งนี้ เฉกเช่นที่ตนเคยมี และเคยเป็นมหาอำนาจเฉกเช่นแต่กาลก่อน