พ่อเมืองบุรีรัมย์ นำส่วนส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชนและนักท่องเที่ยว แห่ผ้าอังสะขึ้นบันไดนาคราช 297 ขั้น นำขึ้นไปเปลี่ยนองค์พระสุภัทรบพิตร บนยอดภูเขาไฟกระโดง เสริมสิริมงคล เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ พ.ศ.2568
วันที่ 14 เม.ย.68 นายปิยะ ปิจนำ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นำหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก พร้อมใจกันแห่ผ้าอังสะเดินขึ้นไปตามบันไดนาคราช 297 ขั้น เพื่อนำขึ้นไปเปลี่ยนองค์พระสุภัทรพิตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่เด่นเป็นสง่า บนปากปล่องภูเขาไฟกระโดง ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูเขาไฟกระโดง เขตเทศบาลนครบุรีรัมย์ ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
โดยอยู่ภายใต้ชื่อการจัดงาน ‘แห่ผ้าขึ้นภูเขาไฟ น้อมใจไหว้พระใหญ่ ไปเที่ยวลานวัฒนธรรม’ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในชุมชน และนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมภายในงานนอกจากการแห่ผ้าอังสะเดินขึ้นไปตามบันไดนาคราช 297 ขั้น นำขึ้นไปเปลี่ยนองค์พระสุภัทรพิตร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์แล้ว ยังมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รำบวงสรวงชื่อชุด ศรีศรัทธาบูชาองค์พระสุภัทรบพิตร รำวงลายผ้าบุรีรัมย์ และกิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันเกิด เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ด้วย
สำหรับ "พระสุภัทรบพิตร" ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกสถานที่หนึ่งของ จ.บุรีรัมย์ ที่ชาว จ.บุรีรัมย์ และทั่วไปให้การเคารพนับถือ โดยภายในเศียรพระสุภัทรบพิตร ได้บรรจุพระธาตุไว้ด้วย โดยพระสุภัทรบพิตร นั้น เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานยาว 14 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2512 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้นคือ นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์ ที่ได้ร่วมกับพ่อค้าประชาชน และผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในความคิดและโครงการต่างๆ ของหลวงพ่อบุญมา ปัญญาปโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดเขากระโดง ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นบริเวณยอดเขากระโดง เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จากจุดที่ตั้งขององค์พระ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์