2วัน! ดับ 59 ราย เกิดอุบัติเหตุ 460 ครั้ง บาดเจ็บ 458 คน กทม.-มุกดาหาร แชมป์สูญเสียสะสม 44จว.ตายเป็นศูนย์ กรมคุมประพฤติ เผย เมาแล้วขับ 2 วันกว่า 1,363 คดี ติดกำไร EM 15 ราย ขณะที่ สวนดุสิตโพล ชี้ ปชช. มองอุปสรรค ไทยยกระดับสงกรานต์เป็นซอฟต์พาวเวอร์
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13เม.ย.68 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 เป็นวันที่สอง ซึ่งจากสถิติสะสม 2 วัน ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสองอันดับแรกคือการขับรถเร็วเกินกำหนดและการดื่มแล้วขับ
ทั้งนี้ จึงขอให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน เพิ่มความละเอียดในการตรวจตราเพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ขับรถเร็วดื่มแล้วขับ ไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด หากพบการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) สถานที่ท่องเที่ยว และบริเวณที่มีการจัดงานรื่นเริง ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้ความสำคัญกับการควบคุมและดูแลสถานบริการให้เปิด-ปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เพิ่มความเข้มข้นของด่านชุมชนและการใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม รวมถึงตักเตือนผู้ทำพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่ไม่ปลอดภัย การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย การโดยสารท้ายกระบะอย่างไม่ปลอดภัย ก่อนออกจากพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้านเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมของระบบสื่อสารและการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เพื่อประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสามารถอำนวยความสะดวกให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุและส่งตัวผู้ประสบเหตุไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันที่2ของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ เกิดอุบัติเหตุ 248 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 30 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.92 ดื่มแล้วขับ 22.18 และตัดหน้ากระชั้นชิด 20.97 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.77 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.87 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.32 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.87 ถนนกรมทางหลวงชนบท ร้อยละ 11.29
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 - 18.00 น. เวลา 18.01 - 21.00 น. และเวลา 06.01-09.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.86 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน50,689 คน โดย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหารและลำพูน(จังหวัดละ 13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11เม.ย. - 12เม.ย.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 460 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 458 คน ผู้เสียชีวิต รวม 59 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 44 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (25 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (9 ราย)
ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติ คดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 2 ของมาตรการควบคุมเข้มข้น พบว่า มีคดีเข้าสู่ระบบรวมทั้งสิ้น 1,037 คดีและศาลสั่งติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) จำนวน 6 ราย โดยขับรถขณะเมาสุรา มากที่สุด จำนวน 982 คดี ขณะที่ ยอดคดีสะสม ตลอด 2 วัน (11-12 เม.ย.68) รวม 1,363 คดี ติดอุปกรณ์ EM จำนวนรวม 15 ราย โดยขับรถ ขณะเมาสุรา 1,258 คดี
ขณะที่ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี คนไทยกับสงกรานต์ (Soft Power) โดยสำรวจระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย.68 พบว่า สงกรานต์ปีนี้ ตั้งใจจะเข้าวัด ทำบุญ สรงน้ำพระ ร้อยละ 60.86 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบร้อยละ 67.34 ไม่กังวลกับการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ เมื่อถามว่า หากสงกรานต์ไทยจะเป็น Soft Power ระดับโลก คิดว่าหัวใจของสงกรานต์ไทย คือ วิธีเล่นน้ำที่สุภาพ สนุก และปลอดภัย ร้อยละ 63.56 ถ้าต้องการให้สงกรานต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้นภาครัฐควรวางแผนประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 50.92 สุดท้ายมองว่าปัญหา/อุปสรรคต่อการยกระดับสงกรานต์เป็น Soft Power ระดับโลก คือ กลยุทธ์และทิศทางของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน ร้อยละ 66.46