“อลงกรณ์” วิเคราะห์โอกาสไทยในวิกฤตสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ยุคทรัมป์ 2.0 ชี้ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานผลิต-ส่งออกโตสองทาง
นายอลงกรณ์ พลบุตรประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์เขียนบทวิเคราะห์โพสต์ในเฟสบุ้คเรื่องโอกาสและภัยคุกคามจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนโดยแบ่งเป็นยุคทรัมป์1.0และ2.0ด้วยมุมมองของผู้มีประสบการณ์เจรจากับสหรัฐและจีนรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมAPECและอาเซียน+3+6โดยเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและยังติดตามความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องจึงนำมาเสนอเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไปโดยมีเนื้อหาตอนที่ 1 ดังนี้
สงครามการค้าสหรัฐกับจีนยุคทรัมป์ 1.0-2.0
:โอกาสในวิกฤตของไทย (1)
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตรประธานสถาบันเอฟเคไอไอ ไทยแลนด์
13 เมษายน 2025
ก่อนจะวิเคราะห์ถึงปัญหาและโอกาสในวิกฤตของไทยในสงครามภาษีการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนและประเทศต่างๆในปี 2025 ควรจะต้องทราบถึงสงครามครั้งแรกในยุคทรัมป์ 1.0 เมื่อ 7 ปีที่แล้วเป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจก่อนที่จะวิเคราะห์โอกาสในวิกฤติที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายทรัมป์ 2.0
เปิดศึกเทรดวอร์(Trade War)
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ.และจีนที่เริ่มขึ้นในปี 2018 ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ 1.0 สร้างความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจ โดยมีเหตุการณ์และผลกระทบสำคัญดังนี้
1.การเริ่มต้นมาตรการภาษี (มีนาคม 2018)
สหรัฐฯ ใช้ มาตรา 301ของกฎหมายการค้า เพื่อลงโทษจีนในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี
ทั้งยังประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักร
ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยภาษีสินค้าสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสุกร และรถยนต์
2. การขยายวงภาษี (2018-2019)
ทั้งสองฝ่ายทยอยเพิ่มภาษีสินค้ากว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐโดยสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนถึง 25% ในปี 2019 ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ
3.เปิดศึกเทควอร์(Tech War)
สหรัฐฯเปิดสงครามเทคโนโลยี(Tech War)กับจีน(2019-2020)
สหรัฐฯ ประกาศแบน Huawei และ ZTE จากตลาดสหรัฐฯ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เช่น ชิป 5G
เจรจาหย่าศึกดีลแรก
ข้อตกลงระยะที่หนึ่ง (Phase One Deal มกราคม 2020)จีนตกลงซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 2 ปี สหรัฐฯ ยกเลิกภาษีบางส่วน แต่ยังคงภาษีส่วนใหญ่ไว้
ผลกระทบของคลื่นสงคราม
1. ผลกระทบต่อสหรัฐฯ
ผู้บริโภคและธุรกิจ
ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า
เกษตรกร
สูญเสียตลาดส่งออกถั่วเหลืองและเนื้อสุกรหลักในจีน
อุตสาหกรรมบางส่วน ได้รับการปกป้อง เช่น เหล็ก แต่บริษัทที่พึ่งห่วงโซ่อุปทานจีนเสียหาย
2. ผลกระทบต่อจีน
เศรษฐกิจชะลอตัว
การส่งออกลดลง เร่งการพึ่งพาตลาดในประเทศ
การย้ายฐานการผลิต
บริษัทต่างชาติกระจายความเสี่ยงไปยังเวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก
เร่งพัฒนานวัตกรรม
ลงทุนสูงในเทคโนโลยีหลัก (Semiconductor, AI) เพื่อลดพึ่งพาต่างชาติ
3. ผลกระทบระดับโลก
องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์การค้าโลกลดลง 0.5% ในปี 2019
ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก
หลายบริษัทปรับโครงสร้างการผลิตใหม่
4. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
สงครามการค้าสะท้อนการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอำนาจระหว่างสหรัฐฯ-จีน ได้ส่งผลต่อประเด็นอื่น เช่น ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สถานะของไต้หวัน
ไทยกับผลกระทบประโยชน์ 2 ทาง
จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนครั้งแรก (2018–2020) ทำให้ไทยได้รับประโยชน์หลายด้านจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทานโลกและการแสวงหาทางเลือกใหม่ของนักลงทุน
1. การขยายตัวของการลงทุนตรงจากต่างชาติ (FDI)
บริษัทที่ย้ายฐานการผลิตจากจีน หลายบริษัทข้ามชาติเลือกไทยเป็นฐานผลิตแทนจีนเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น ฮาร์ดดิสก์ ชิปเซมิคอนดักเตอร์) และยานยนต์
ข้อมูลจาก BOIระบุว่าในปี 2019 การลงทุนต่างชาติในไทยเพิ่มขึ้น 68%จากปีก่อนโดยจีนและญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนหลัก
ตัวอย่างเช่นบริษัทจีนเช่น BYD (รถยนต์ไฟฟ้า) และ Haier (เครื่องใช้ไฟฟ้า) ขยายการผลิตในไทย
2. การเติบโตของการส่งออก2เด้ง
สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไทยแทนจีนสินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ฮาร์ดดิสก์ (ครองส่วนแบ่งตลาดโลก 40%) ยางพารา ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป
จีนเพิ่มนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยหลังจีนลดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ไทยส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ยางพารา น้ำตาลและผลไม้ เช่น ทุเรียนเพิ่มขึ้น การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เติบโต 4.5%ในปี 2019 ส่วนการส่งออกไปจีนเพิ่ม7%
3. การเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานใหม่ฐานผลิตในภูมิภาคอาเซียน ไทยถูกมองเป็น "China +1" ของนักลงต่างประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการผลิตในประเทศเดียว การลงทุนใน EEC (ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก)เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง และนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น EECdดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีและโลจิสติกส์
4. ประโยชน์ต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเป้าหมาย
1.เกษตรกรรม
จีนเพิ่มการซื้อยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลจากไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
การลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปอาเซียนและตลาดอื่น
5. การเสริมบทบาททางการค้าในภูมิภาค
1.ความเป็นกลางทางการเมือง
ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรทั้งสหรัฐฯ และจีน ส่งเสริมการเป็น "ฮับการค้า" ในอาเซียน
2.ข้อตกลงการค้า
ไทยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อส่งออกสินค้าไปจีนโดยได้ภาษีพิเศษ
6. ผลกระทบทางอ้อม
1.ค่าเงินบาทที่อ่อนตัว
ช่วงสงครามการค้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าสัมพัทธ์กับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งเสริมการส่งออก
2.การจ้างงาน
อุตสาหกรรมที่ขยายตัวช่วยดูดซับแรงงาน โดยเฉพาะในเขต EEC
สรุป
สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ไม่เพียงส่งผลทางเศรษฐกิจโดยตรง แต่ยังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์การค้าโลก กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ปรับกลยุทธ์การค้าและลดการพึ่งพาซัพพลายเชนจากแหล่งเดียว ขณะเดียวกัน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและอิทธิพลระหว่างสองมหาอำนาจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนยังส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต การขยายการส่งออก และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้จะเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทยสามารถใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเสริมตำแหน่งทางการค้าในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ.