เป็นอะไรที่ยิ่งกว่า “สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ (The river has no return.)” กันเสียอีก
สำหรับ แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินของโลกเรา ที่กำลังแห้งเหือดหายไป
โดย “สายน้ำไม่ไหลย้อนกลับ” ที่ว่า แม้ว่าน้ำจะไหลไป แต่ก็ยังคงมี “น้ำ” ให้เห็นอยู่
ทว่า แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินของโลกเรา ที่กำลังแห้งเหือดหายไปนั้น ก็หายไปอย่างแทบจะไม่มีวันหวนกลับมาอีกเลย ซึ่งแม้อาจหวนกลับมากันอยู่บ้าง เช่น กลับมาเป็นฝนตกลงมา แต่ก็กลับมาแบบน้อยนิด และลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เป็นลำดับ จนทำให้แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินของโลกเราที่ว่านั้น เหือดหายไป เหลือแต่เพียงดินที่แห้งผากแตกระแหง
นั่น! เป็นการรายงานโดย “วารสารวิทยาศาสตร์ (Journal Science)” ซึ่งจัดทำและดำเนินการศึกษาวิจัยโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจาก “สมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน” หรือ “เอเอเอเอส” (AAAS : American Association for the Advancement of Science) โดยสมาคมแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ที่ “ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์วิลเลียม ที.โกลเดน” กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา
รายงานของ “วารสารวิทยาศาสตร์” ระบุว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินของโลกเราต้องแห้งเหือดไป ก็มาจาก “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หรือ “ภาวะโลกร้อน” นั่นเอง
โดยวิกฤติภาวะโลกร้อน ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบนโลกเรา ตลอดช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ตามการศึกษาติดตามแบบแบ่งช่วงเวลาของสถานการณ์
ทั้งนี้ ในการศึกษาติดตามระหว่างช่วงปี 2000 ถึง 2016 (พ.ศ. 2543 ถึง 2559) พบว่า โลกได้สูญเสียน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน รวมแล้วเป็นปริมาณสูงถึง 2,614 กิกะตัน หรือ 2,614 ล้านล้านลิตร (1กิกะตัน เท่ากับ 1 พันล้านตัน)
เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ยังระบุด้วยว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าที่ระบุไปข้างต้น นอกจากนี้ ในแต่ละปีถัดๆ มาหลังจากศึกษาติดตามดังกล่าวนั้น แหล่งน้ำของโลกเราก็มีแนวโน้มลดน้อยถอยลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึง ณ ชั่วโมงนี้ ปริมาณน้ำของแหล่งน้ำในโลกเรา ก็จะมีตัวเลขเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก
พูดง่ายๆ ก็คือ โลกมีแนวโน้มที่จะแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้นจากการได้รับผลกระทบของวิกฤติภาวะโลกร้อนตามที่หลายคนวิตกกังวลกัน
เหล่านักวิจัย ยังได้แบ่งช่วงเวลาศึกษาติดตามแบบช่วงสั้น 2 ปี คือ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2002 (พ.ศ. 2543 ถึง 2545) ด้วยว่า แหล่งน้ำของโลกได้แห้งเหือดหายไปราวๆ 1,614 กิกะตัน
อย่างไรก็ดี แม้วิกฤติภาวะโลกร้อน ได้ทำให้เกิดความแห้งเหือดของแหล่งน้ำโลกเรา แต่ก็ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นตามมาจากปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการละลายของบรรดาภูเขาน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งต่างๆ ตามขั้วโลก ไม่ว่าจะเป็นขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ก็ตาม
ทั้งนี้ ในการศึกษาติดตามในช่วงเวลาเดียวกับข้างต้น คือ ปี 2000 – 2002 ก็พบว่า ระดับน้ำดับทะเลเพิ่มสูงขึ้นปีละ 1.95 มิลลิเมตร อันเป็นผลมาจากภูเขาน้ำแข็ง และธารน้ำแข็งตามขั้วโลกเกิดการละลายจากภาวะโลกร้อน
พร้อมกันนี้ ในการศึกษาติดตามสถานการณ์ภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ เกาะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ หมายปองอยากได้ไว้ครอบครองเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ทางคณะผู้วิจัยก็ยังพบด้วยว่า ในช่วงปี 2002 ถึง 2006 (พ.ศ. 2545 ถึง 2549) เกาะกรีนแลนด์ ต้องสูญเสียภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง เพราะการละลายตัวจากภาวะโลกร้อน คิดเป็นปริมาณถึง 900 กิกะตัน ซึ่งภูเขาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งที่ถูกภาวะโลกร้อนละลายไปขนาดนั้น ก็ส่งผลให้น้ำทะเลมีปริมาณสูงถึงราวๆ 0.88 มิลลิเมตรต่อปี
ทว่า น้ำทะเลที่เพิ่มระดับสูงขึ้น กลับมิได้เป็นประโยชน์ต่อประชากรโลกมากนัก เพราะเป็นส่วนผืนน้ำที่มนุษย์เราใช้ประโยชน์น้อย แถมมิหนำซ้ำ ก็ยังอาจทำให้พื้นที่อาศัยของมนุษย์ที่ติดริมทะเล รวมไปถึงบรรดาเมืองที่อยู่ริมทะเลในประเทศต่างๆ แม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยเรา ก็มีความเสี่ยงที่จะจมน้ำในอนาคต
โดยคณะนักวิจัย อยากจะให้ผืนดินต่างๆ ของโลกชุ่มน้ำด้วยแหล่งน้ำต่างๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำบนดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การเพาะปลูกทางการเกษตร เป็นต้น
ในการศึกษาติดตามของคณะนักวิจัย ยังพบด้วยว่า สถานการณ์แหล่งน้ำของโลกในช่วงปี 2003 ถึง 2016 (พ.ศ. 2546 ถึง 2559) ถือว่า เลวร้ายหนัก โดยพบว่า ผืนแผ่นดินของโลกเราได้สูญเสียความชุ่มชื้น จากแหล่งน้ำที่เหือดหายไปด้วยปริมาณสูงถึง 1,009 กิกะตัน ซึ่งการสูญเสียไปข้างต้น เป็นการสูญเสียไปอย่างไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอีกเลยด้วยอีกต่างหาก จากการที่ภาวะโลกร้อนทำให้ไม่มีฝนตก หรือมีน้ำจากแหล่งที่มาอื่นๆ มาทดแทนหมุนเวียน ในหลายพื้นที่ที่แหล่งน้ำแห้งเหือดไปแล้วนั่นเอง
ท่ามกลางความวิตกกังวลของคณะนักวิจัย ที่ระบุว่า แนวโน้มแหล่งน้ำของโลกเราจะแห้งเหือดหายไปเพิ่มมากขึ้น เสมือนเป็นเงาตามตัวจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี สืบเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เราที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไปสร้างปฏิกริยาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ก็ยิ่งทำให้โลกของเราร้อนยิ่งขึ้น
โดยประมาณการกันว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นประจำทุกเฉลี่ยปีละ 0.1 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้น ก็จะเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่า อากาศของโลกเราร้อนขึ้นนั่นเอง และมีแนวโน้มด้วยว่า อากาศร้อนของโลกเรา ก็จะมีระยะเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น ดังที่หลายคนบ่นๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่า ก็ย่อมส่งผลทำให้แหล่งน้ำของโลกเรา ไม่ว่าจะแหล่งน้ำบนดิน และแหล่งใต้ดิน ต้องเหือดแห้งไป อันก่อให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงเลวร้ายหนักขึ้น มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกใบนี้อย่างน่าเป็นห่วง