สมอ.เดินหน้าโชว์ระบบ e-Surveillance ขยายเครือข่าย iTISI เชิญผู้ประกอบการกว่า 2,000 คน ชมการสาธิต ก้าวสู่ สมอ. 4.0 อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในยุคดิจิตัล นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา “Transformation สมอ. 4.0 : iTISI & e-surveillance/NSW” ว่า การปฏิรูปประเทศไทยตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางการขับเคลื่อน Industry 4.0 ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งวาระเชิงนโยบายที่รัฐบาลมุ่งเน้นและพยายามขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ value-based innovation driven economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความสมดุลในโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงเติบโตเพียงแต่ GDP ประการเดียว ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรม 4.0 คือ new investment platform ที่เกิดจากการบูรณาการของ local economy และกลไกการสร้างความเติบโตจากภายใน (inclusive growth) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนาสู่ Industry 4.0 มุ่งเน้นการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และระบบดิจิทัล ในกระบวนการต่างๆ ตลอดห่วงโซ่มูลค่า โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักให้ผู้ประกอบการไทยเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการยกระดับเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0 รวมทั้งสนับสนุนและให้คำแนะนำผู้ประกอบการให้นำหุ่นยนต์ (Robotics) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในสถานประกอบการ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ตลอดจนการจัดจำหน่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการผลิต และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นอุตสาหกรรมศักยภาพอีกหนึ่งสาขา ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพทั้งหมดจะอยู่ในกรอบแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย Industry 4.0 สมอ.ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนองค์กร(Transform)สู่ สมอ. 4.0 โดยปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ iTISI ทั้งการอนุญาต การตรวจติดตาม และการชำระค่าบริการต่างๆ สามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และประชาชนให้สามารถเข้าถึงการบริการของ สมอ. ได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนี้ที่ผ่านมา สมอ.ได้จัดทำระบบออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิคส์ (e-License) โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการยื่นขอรับใบอนุญาต ซึ่งจากเดิมผู้ประกอบการต้องเดินทางไปยื่นขอรับใบอนุญาตที่ สมอ. ทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้ประกอบการ โดย สมอ.ได้พัฒนาระบบการออกใบอนุญาตแบบ online ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทางมาที่ สมอ. สามารถยื่นขอผ่านเครือข่าย Internet ได้ทันที จากเดิมใช้เวลาออกใบอนุญาต 46 วันทำการ เมื่อใช้เป็นระบบ e-License จะเหลือเพียง 10 วัน ทำการโดย สมอ.เปิดให้บริการเมื่อเดือนม.ค.61 ที่ผ่านมา สมอ.ได้ออกใบอนุญาตผ่านระบบแล้วทั้งหมด 670 ฉบับ และในวันนี้ สมอ.ได้พัฒนาระบบการตรวจติดตามผลภายหลังการอนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ e-Surveillance ซึ่งเป็นการนำระบบ Digital มาช่วยอำนวยความสะดวกในการแจ้งข้อมูลของผู้ได้รับอนุญาต และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ สมอ ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งได้ใช้หลักการ Self Declaration ที่ใช้การนำผลการตรวจสอบด้วยตนเองของผู้ได้รับใบอนุญาตมาใช้ เพื่อเป็นการลดภาระในการตรวจติดตาม นอกจากนี้ สมอ.ยังได้พัฒนายังได้พัฒนาระบบการชำระค่าบริการและค่าธรรมเนียมงานบริการด้านอื่นๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment โดยสามารถเชื่อมต่อกับธนาคารกรุงไทยได้สำเร็จ สามารถชำระค่าบริการได้ที่ตู้ ATM สาขาธนาคาร และแอปพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai Next ได้อีกด้วย และเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่และการปรับการปฏิบัติงานสู่การเป็น สมอ. 4.0 รวมทั้งให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจในระบบ iTISI สมอ.จึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง “Transformation สมอ. 4.0 : iTISI & e-Surveillance/NSW” หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การปรับเปลี่ยนองค์กร สู่ สมอ. 4.0 จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก การบริการมีความรวดเร็วและโปร่งใส ตอบสนองนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ ตามนโยบาย Ease of Doing Business ของรัฐบาล