ชี้ฝุ่นสาหัสเพราะไอเสียเครื่องยนต์ดีเซล ระบุไบโอดีเซลของดีใกล้ตัวคนไทย เร่งพัฒนางานวิจัยเครื่องยนต์รองรับ ผศ.ดร.ปรีชา การินทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้ศึกษาวิจัยผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อจลศาสตร์เคมีในโครงสร้างระดับนาโนของมลพิษอนุภาคเขม่าและกลไกการสึกหรอของเครื่องยนต์ เพื่อแก้ปัญหาไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่เป็นหนึ่งในตัวการหลักที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 กล่าวว่า พบว่าเขม่าที่เกิดจากการใช้ไบโอดีเซลลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล ขณะนี้ทางคณะวิจัยกำลังพัฒนารูปแบบเครื่องยนต์ให้เหมาะแก่การใช้กับไบโอดีเซลให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นอีก สัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงไบโอดีเซลในดีเซลที่เหมาะสม การพัฒนาเทคโนโลยีด้านตัวกรองมลพิษเขม่าดีเซล รวมไปถึงน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ตอบสนองการใช้ไบโอดีเซลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลดีและสร้างความมั่นใจต่อประชาชน และผู้ประกอบการด้วย อีกทั้งองค์ความรู้ของงานวิจัยนี้สามารถปรับใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลในโรงงานอุตสาหกรรม และเครื่องยนต์เบนซินแบบฉีดตรง (Gasoline Direct Injection, GDI) ได้เช่นกัน ผศ.ดร.ปรีชากล่าวว่า การห้ามคนใช้รถคนทำไม่ได้ แต่บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษเหล่านี้คือสิ่งที่ทางภาครัฐทำได้ ไทยใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์เป็นระดับ Euro 4 และไม่ใช่ทั้งหมด รถเมล์ รถบัสนำเที่ยว รถบรรทุก ที่วิ่งกันเต็มเมืองไม่ได้มีมาตรฐานระดับ Euro 4 ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ใช้มาตรฐานไอเสียระดับ Euro 6 ปั๊มน้ำมันในมาเลเซียเริ่มจำหน่ายน้ำมันดีเซล Euro 5 เวียดนามกำหนดให้ภายในปี 65 เตรียมประกาศใช้มาตรฐานไอเสียระดับ Euro 5 ส่วนประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป ต่างก็ใช้มาตรฐานไอเสียระดับ Euro 6 มานานหลายปีมากแล้ว “ไม่เข้าใจว่าทำไมบ้านเราไม่ประกาศใช้มาตรฐานไอเสียระดับ Euro 5 - 6 ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีที่สามารถรองรับปัญหานี้มันไปไกลมากแล้ว โรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองไทยก็ผลิตรถยนต์ที่ติดตั้งระบบกำจัดมลพิษให้ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ Euro 5 – 6 ไปขายในภูมิภาคเหล่านั้นมาหลายปีมากแล้ว”