เรื่อง: ปาริชาติ เฉลิมศรี

หมายเหตุ : “จิรายุ ห่วงทรัพย์”  ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” ถึงแนวทางการทำงานในฐานะกระบอกเสียงข้างกาย “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ทั้งเพื่อการให้ข้อมูล ข่าวสาร นำเสนอนโยบายการทำงานของผู้นำรัฐบาล ตลอดจนการตอบโต้ประเด็นทางการเมืองอันเข้มข้น ตลอดห้วงระยะเวลาเพียงครึ่งปีที่ผ่านมา

- การทำงานในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ยึดหลักอะไรในการทำงาน

            การทำงานจะมี 2 ส่วน 1. ตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่องของนายกรัฐมนตรีในเชิงสื่อสาร เพราะเวลาเราทำงานต้องเข้าใจว่าภาษาพูดและภาษาเขียนไม่เหมือนกัน บางทีนายกฯ อาจจะเป็นการสั่งการด้วยภาษาพูด เราก็มีหน้าที่แปลความ เป็นภาษาทางราชการ เป็นภาษาที่เป็นทางการ เพื่อที่จะส่งไปให้ส่วนราชการต่างๆ ซึ่งบางเรื่องตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ อาจจะใช้วิธีการพูดแบบเชิงตอบโต้ได้ บางอันอาจจะเป็นเรื่องความรู้สึก เรื่องของการตอบโต้ทางการเมือง ตรงนี้ก็หนักหนาสาหัสพอสมควร เพราะจะต้องระวังเส้นบางๆ ระหว่างทางการกับการตอบโต้ทางการเมือง

            2 . ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการ และค่อนข้างที่จะหนักกว่าที่คิด เพราะตอนก่อนที่เข้ามา ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรมาก แต่พอเข้ามาแล้วมีมากจนบางทีรู้สึกว่าเกินกำลัง เช่น ข่าวทุกข่าวที่ออกจากทำเนียบรัฐบาลเป็นภาษาราชการ จนเกินไป พอให้คนโน้นคนนี้แก้ ก็ไม่ได้ดั่งใจ และรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้มีปัญหาแน่นอน ก็เลยเปลี่ยนระบบในสำนักโฆษกฯ ใหม่ ทั้งหมด โดยจะต้องกลั่นกรองทั้งภาษา และผลกระทบของภาษา

            บางครั้งสื่อมวลชนอาจจะไม่เข้าใจว่า งานเสร็จตั้งนานแล้ว ทำไมยังไม่ส่งข่าว เพราะบางข่าวส่งเร็วอาจจะมีผลกระทบสูง ผมจึงให้นโยบายกับสำนักโฆษกฯ ไปเลยว่า ช้าแต่ชัวร์ ส่งไปแล้วต้องห้ามยกเลิกข้อความเด็ดขาด

            อย่างกรณีข่าวต่างประเทศที่แปลเป็นภาษาไทย คณะทำงานก็ต้องกลั่นกรองภาษาแล้วส่งมาให้ผม ซึ่งผมก็จะปรับเปลี่ยนให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย บางครั้งก็พาดหัวให้ เปลี่ยนหัวรองให้ เพื่อไปทำอินโฟกราฟฟิกและตนก็จะส่งกลับไปยังผอ.สำนักโฆษกฯ เพื่อส่งให้กับสื่อมวลชน

            พอเราได้มีการวางไว้ว่า ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ จะมีข่าวอะไรบ้าง เราจะเรียงลำดับ ข่าวไหนสำคัญกว่า ข่าวไหนออกเช้า หรือข่าวไหนออกช่วงบ่าย ตรงนี้เป็นการทำงานที่หนัก เพราะเวลาเราไปกับนายกฯ เราฟังแล้วก็ต้องมารีไรท์ด้วย

- ตอนที่เข้ามาเป็นโฆษกฯ จะต้องมีการปรับตัวการทำงานกับข้าราชการประจำอย่างไร

            โชคดีที่ว่าก่อนหน้านี้ ถึงแม้จะทำงานทางด้านการเมือง แต่ก็เป็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับราชการ อย่างตอนที่ผมเป็นประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน ก็ต้องทำงานกับข้าราชส่วนต่างๆ และก่อนที่จะมาอยู่กับนายกฯ ก็เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งทำงานกับข้าราชการล้วนๆ ทั้งกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ผมก็ทำหน้าที่ประสานสิบทิศ

            พอมาอยู่ที่ทำเนียบฯ ผมก็ไม่รู้สึกกังวล เพราะคนที่ผมมาอยู่ด้วย เขารู้จักอยู่แล้วว่า ผมเป็นใคร โดยเมื่อมาทำงานที่ทำเนียบฯ ก็ใช้เวลา 3 เดือนในการจัดระบบ ตอนนี้ก็ค่อนข้างราบรื่นแล้ว และทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

            การทำงานกับข้าราชการ ได้มีการเปิดใจคุยกัน ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการระดับกลางลงมา ก็จะมีการประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อรับฟังปัญหา เพราะบางครั้งเราใจใหญ่ ต้องเร็ว ต้องทำเลย ซึ่งเขาบอกว่า มีรถแค่คันเดียวมันทำไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ หรือเรื่องเฟซบุ๊กของทำเนียบฯ ที่จะต้องมีการตั้งงบประมาณก่อน

            อีกอย่างเราเป็นข้าราชการการเมือง เรามาทำงานเพื่อรัฐบาล ให้ประเทศเดินหน้าได้ ถ้าจะเปลี่ยนในอนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งข้าราชการประจำ เขาต้องรับนโยบายในการทำงานจากเราเพื่อให้งานต่อเนื่อง

- การที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ถูกจับตามองและคาดหวังการทำงานของรัฐบาล ในฐานะโฆษกฯ จะมีการสื่อสารเรื่องเหล่านี้อย่างไร

            ตอนแรกที่เข้ามานายกฯ ได้เชิญไปพบ ซึ่งผมได้อธิบายไปว่า ผมเป็นโทรโข่งชั้นดี ที่มีคุณภาพเสียงที่ดี เลเวลที่ปรับได้คือ 100 นายกฯ สามารถบอกได้เลยว่า จะเอาแค่ไหน 50 30 หรือจะเปิดเต็มแม็ก 100 ผมก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่ว่านายกฯ เลือกโทรโข่งเลเวลต่ำ แล้วจะเปิดแบบดุเดือดมันก็วงแตก

            ผมจะบอกนายกฯ เสมอว่า ผมพร้อมยืนข้างหลังเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก” ให้กับนายกฯ ซึ่งบางเรื่อง ถ้าสงสัยก็ให้ถามผม ถ้าไม่มั่นใจให้ถามผม ถ้าโมโหก็ให้ด่าผม เพราะบางเรื่องเป็นศิลปศาสตร์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์

            คุณอาจจะเห็นว่าโฆษกฯ ปล่อยข่าวอย่างนี้ไป ซึ่งถูกวิพากวิจารณ์จากคนหลากหลายอาชีพ แต่ผมรู้ว่า ข่าวที่ผมปล่อยไป ผมต้องการให้สื่อถามต่อ หรือให้สังคมตั้งข้อสงสัย แล้วผมก็จะโยนชุดความรู้เข้าไปอีกครั้งหนึ่ง มันเป็นแทคติก

            แต่ถ้าคนไม่เข้าใจ ก็ต้องมั่นอกมั่นใจว่า การมาเป็นโทรโข่งรัฐบาลได้ ต้องมีประสบการณ์กลั่นกรอง ไม่มีโรงเรียนสอน คำพูดบางคำหากปล่อยไปก็อาจจะเป็นเรื่องได้ ซึ่งเราก็มีหน้าที่กลั่นกรอง ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลทั่วโลก เขาจะให้ความสำคัญกับโฆษกรัฐบาลมาก เพราะไม่ว่าผู้นำประเทศจะพูดอะไร ประธานาธิบดีจะพูดอะไร นายกฯ จะพูดอะไร โฆษกรัฐบาลก็จะกลั่นกรองคำพูดออกมาให้ดีที่สุด

            เราทำงานให้กับนายกฯ ที่เป็นคนสองวัย คือนายกฯ อายุปริ่ม 40 ปี ก็หมายความว่าท่านเป็นผู้ใหญ่มาก แต่ท่านก็สามารถคุยกับเด็กอายุที่ต่ำลงมาได้ ส่วนผมเป็นคนสองวัยครึ่ง ผมอายุ 50 ปีก็พูดคุยกับคนที่อายุ 70 - 80 ปีได้ ผมก็คุยกับน้องๆ ในทำเนียบฯ ที่ 20-30 ปีได้ ฉะนั้นการที่เรารู้เรื่องนี้ ทำให้เราคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ รองนายกฯ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่มีอายุ 70 ปีได้ สามารถสื่อสารกันได้

            เหมือนกับเราฟังเพลงยุค 90 มาพร้อมพร้อมกัน ขณะเดียวกันผมก็ฟังเพลงยุค 2000 ผมยังไม่ได้โดนนายกฯ ตำหนิอะไรมากมาย เวลาเห็นอะไรต่างกัน ก็ขอให้ถาม เพราะอาจจะมีเหตุผลที่ไม่เหมือนกันก็เป็นไปได้    

 - มีบางไหมที่เข้าใจไม่ตรงกัน

            ความเข้าใจในการทำงานที่ทำเนียบฯ ไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว อย่างที่เขาเราคนละอาชีพกัน ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่า ตนช้า แต่ตนก็จะอธิบายไปว่า ช้าแต่ชัวร์ พอผ่านไป ก็จะทำให้เรารู้สึกว่า มีคุณค่าที่จะอธิบายด้วยวิธีการทำงานมากกว่าจะโต้แย้ง ผมจะไม่ค่อยไปทะเลาะกับใคร หากใครในทำเนียบฯ จะมาสั่งงานอะไร ผมก็จะบอกว่าได้ครับ เดี๋ยวจัดการให้

 - ในฐานะที่เป็นทั้งที่ปรึกษาของนายกฯ และเป็นโฆษกฯ มองการปรับตัวของ นายกฯ เข้าสู่การเมืองอย่างไร

            ร่างแรกของนายกฯ ผมรู้จักในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอนที่ปราศรัยหาเสียง ผมชื่นชมด้วยความรู้สึก ตอนนั้นหัวหน้าพรรคตั้งครรภ์ แต่ก็ยังไปปราศรัยบนเวที ผมก็นั่งมองว่า ทำไมหัวหน้าพรรคถึงขยันอย่างนี้ ทำให้รู้สึกว่าหัวหน้าพรรคเราเจ๋ง แต่ก็อยู่ในใจ

            แต่พอมีโอกาสได้เจอกัน ได้พูดคุยกันครั้งแรกในฐานะนายกฯ และเราที่เป็นโฆษกฯ จะต้องไปพร้อมๆ กันให้ได้ ถ้าไม่ชอบขี้หน้ากันตั้งแต่ต้น ก็ทำงานร่วมกันไม่ได้ รวมถึงวิธีคิด จริตไม่คล้ายกันก็ทำงานด้วยกันยาก ซึ่งนายกฯ เอง ก็เคยบอกกับผมว่า เราจริตเหมือนกัน

            ผ่านมา 5 เดือนกว่า นายกฯ คมความคิด คมคำพูด สังเกตได้จากที่ตอนแรกมีการวิพากษ์วิจารณ์ ที่นายกฯใช้ไอแพด แต่ตอนนี้ก็ไม่มีการพูดถึง และนายกฯ มีไหวพริบในการตอบคำถาม

 - นายกฯ Gen Y ที่พูดกัน ซึ่งบางส่วนไม่มั่นใจในการบริหารประเทศ เราจะบอกกับสังคมอย่างไรว่า นายกฯ ทำได้

            คำว่า Gen Y คือ คำที่ใช้แบ่งกลุ่มที่เกิดในปีนั้นๆ แต่ไม่ได้บอกถึงการศึกษา ปัญญา ความคิด การดำรงชีวิตในแต่ละมิติของคน Gen Y ฉะนั้นการที่นายกฯ เป็นคน Gen Y ก็มีความรู้ความสามารถ นายกฯ อาจจะดูไม่อาวุโสเท่ากับคนอายุ 60 ปีหรือ 70 ปี ที่เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี แต่อย่าลืมว่านายกฯ เป็นประธานบริษัทธุรกิจหมื่นๆ ล้านมา การบริหารธุรกิจได้ มันเป็นเรื่องใหญ่ นายกฯ ผ่านเรื่องพวกนี้มาหมด

            เมื่อนายกฯ มาบริหารราชการแผ่นดิน แรกๆ ก็โดนแซวว่า เด็กฝึกงานมาบริหารประเทศ แต่พอผ่านไป 6 เดือน คำพวกนี้หายไปหมดเลย ถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 57 ผมเป็นฝ่ายค้านอภิปรายมาแล้วหลายครั้ง เราจะเห็นเลยว่า การตัดสินใจของผู้นำแต่ละยุค แต่ละสมัย มีข้อสังเกตที่แตกต่างกัน

            นายกฯ แพทองธาร เข้าถึงเทคโนโลยีทั้งหมดฉับไว และสั่งการได้รวดเร็ว เช่น กรณีดินโคลนถล่มที่จังหวัดเชียงราย มีคนบอกว่านายกฯ ไม่ไปเลย แต่ตอนนั้นติดแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภา แต่พอวันรุ่งขึ้นนายกฯ ก็เดินทางไป หรือน้ำท่วมภาคใต้ที่ประชาชนบอกว่านายกฯ ไม่ไป สุดท้ายตอนนี้นายกฯ ลงพื้นที่ภาคใต้ไม่รู้มากี่รอบ

            ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหว นายกฯ กำลังประชุมอยู่บนเวทีที่จังหวัดภูเก็ต พอนายกฯ รับทราบรายงาน ได้สั่งยกเลิกการประชุมและลงไปตั้งวอร์รูมชั้นล่าง สั่งการผ่านโทรทัศน์รวมกันเฉพาะกิจ ก่อนบินมากรุงเทพฯ ประชุมต่อ วันรุ่งขึ้นนายกฯ ก็แก้ไขปัญหาอย่างฉับไว มีการตรวจสอบลงไปพื้นที่เพื่อพูดคุย ผมก็ไม่เคยเห็นนายกฯ คนไหนที่แก้ปัญหาวิกฤติแบบนี้มาก่อน

            ถึงวันนี้เป็นการพิสูจน์แล้วว่าในตัวนายกฯ มีพลังงานเปล่งออกมา ประเทศไทยจำเป็นต้องมีผู้นำสองวัยแบบนี้ ส่วนคนที่ไม่ชอบก็จะไม่ชอบ มันพูดยาก

 - เหตุการณ์ต่างๆ ทั้งน้ำท่วมเชียงราย น้ำท่วมภาคใต้ ตึก สตง. ถล่ม สหรัฐอเมริการขึ้นภาษี เราจะใช้วิธีการสื่อสารอย่างไร ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะยังมีการพูดว่ารัฐบาลทำงานช้า

            บางคนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยไม่สนใจต้นทางของข้อมูล อย่างกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษี ตนจำได้ว่าตั้งแต่ ธ.ค. 2567 นายกฯ บอกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีอย่างนี้นะ โดยเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 นายกฯ ได้ตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ จากนั้นก็ไปบริหารจัดการและทำงานมาโดยตลอด จนวันที่ 20 ม.ค. โดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดี

            ซึ่งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 36% คำถามว่านายกฯ ทำอะไรไหม นายกฯ ทำมาโดยตลอด บางคนไม่ชอบก็จะด่า อย่างฝ่ายค้านก็ไม่กล้าเถียงผมซักคำ บางพรรคการเมืองออกแถลงการณ์ให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการ ผมก็บอกว่าท่านตกข่าวหรือเปล่า ก็เงียบไปไม่ตอบโต้ ผู้นำฝ่ายค้านที่ออกมาเสนอแนะให้นายกฯ ตั้งคณะกรรมการ ก็เป็นการผลิตวาทกรรมทำซ้ำ ผมมีหน้าที่ไปตอกย้ำว่า เราทำมาอย่างนี้แล้ว เราเดินอย่างนี้ และได้แถลงไปแล้วว่า จะทำอะไรบ้าง

            ส่วนเรื่องตึก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม นายกฯ ให้เวลา 7 วันในการสอบสวน ไม่ได้หมายความว่า ดีดนิ้วได้เลย อิฐ หิน ดิน ทรายที่ทับร่างผู้เสียชีวิต และผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตก็ยังอยู่ในนั้น นายกฯ ก็เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ ผมไม่ได้คิดเลยว่านายกฯ ทำช้า แต่นายกฯ ทำเร็วกว่าที่คิด ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน หรือคนที่ไม่ชอบนายกฯ คนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย ผมก็ใช้วิธีการด่าแบบนั้น

 - มีคนมองว่ารัฐบาล แพทองธาร อยู่มา 6 เดือน เหมือนอยู่มา 6 ปี

            ความหมายคืออะไร ถ้ามองในเชิงบวกแสดงว่ารัฐบาลนี้มีความเชื่อมั่นสูง เหมือนอยู่มา 6 ปี กลับอยู่ 6 เดือน ถ้าดูในโซเชียลมีเดียที่ดูแต่ข่าวที่สั้นๆ ดูแต่ที่บูลลี่ คุณจะไม่เข้าใจอะไร การขับเคลื่อนรัฐบาลมา 6 เดือน ถือว่ามีผลสัมฤทธิ์มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว การค้าขาย หากเราไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นภาษีที่เป็นตัวแปลควบคุมไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ที่จะป้องกันได้ เรารู้ว่าเรากำลังจะขับรถเข้าถ้ำมืด มีคนเคยประกาศแล้วว่าฉันจะจัดการอย่างนี้ แต่ถ้ามันไม่เข้ามายืนอยู่ตรงนั้นก็ไม่มีอะไร เมื่อเข้าไปแล้วก็วางแผนเดินทางไป

            6 เดือน ถ้าย้อนกลับไปบางรัฐบาลบริหารแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ไม่ต้องมาถูกงี่เง่าใส่ ถึงเวลาใครมาตำหนิติติงก็ปรับทัศนคติ 7-8 ปี ยังรู้สึกว่ามันช้า แต่นี่ผ่านมา 6 เดือนผ่านอะไรมาตั้งเยอะแยะ ทำอะไรมาตั้งเยอะแยะ

            เราวัด 2-3 เรื่อง 1. เรื่องด้านเศรษฐกิจ จีดีพีปีนี้ ตั้งเป้าจะมีผลกระทบไหม เดือนที่ผ่านมา จีดีพี 3.2 ไหม 2. สังคมเป็นอย่างไร โดนคอลเซ็นเตอร์หลอกกันมาตั้งนาน ทำไมไม่รู้จักทำกัน อย่างเรื่องขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีผู้นำไหนเคยทำบ้าง ก็มีแต่นายกฯ คนนี้ที่ตัดสินใจทำ และ 3. เรื่องยาเสพติด เราไม่เคยเห็นรถรถเทรลเลอร์ 18 ล้อที่ถูกจับได้แล้วมียา 18 ล้านเม็ดมาก่อน เราเห็นแต่เรื่องของกระบวนการส่วย

            ผมมีความรู้สึกว่า 6 เดือน รัฐบาล แพทองธาร ทำอะไรมากกว่าที่คิด เวลาคนเรา จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำเชิงสถิติ เหมือนเราเปรียบเทียบว่าช่วงเดือนม.ค.ของปีที่แล้ว กับม.ค.ปีนี้ มีอะไรดีบ้าง ก็จะเห็นภาพ ถ้าจะให้พูดเอามัน พูดตามอารมณ์ คนที่ไม่ชอบต่อให้ยืนอยู่เฉยๆ มันก็ไม่ชอบ

 - โซเชียลมีเดียทำให้การทำงานสื่อสารของรัฐบาลมีอุปสรรคหรือไม่

            เดี๋ยวนี้ลดลง เพราะหากจะเอาอะไรมาแปะ ต้องดูว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นข้อมูลเท็จก็จะมีคนไปบลัฟอยู่แล้วว่าคุณมั่ว ทุกวันนี้รัฐบาลทำอินโฟกราฟฟิก ง่ายๆ ให้คนเข้าไปดู ตอนนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ดูรายการโทรทัศน์ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงได้ เดี๋ยวนี้คนดูแค่ 1 นาทีก็ขี้เกียจดูแล้ว ถ้าเน็ตช้าอีกก็ไม่อยากจะดู จึงเป็นหน้าที่รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปทำเรื่องประชาสัมพันธ์ หรือเรื่องแก้ไขข่าวเฟคนิวส์ ไอโอ ของฝ่ายตรงข้าม เรื่องโซเชียลมีเดียไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล ผมเชื่อว่าคนที่ทำทุกคน เขารักประเทศอยู่แล้ว ต่อให้ไม่เป็นนายกฯ ที่ชื่อแพทองธาร ก็ต้องมีนายกฯ ชื่ออะไรซักชื่อมาทำงาน แล้วเราจะมัวมานั่งตำหนิ ติติง ผู้นำประเทศอยู่ตลอดเวลาหรืออย่างไร

            เราทำเหมือนทีมฟุตบอลได้ไหม ใหมีทีมไทยแลนด์ แล้วเราเชียร์เขาได้ไหม เราให้กำลังใจ นายกฯ ได้ไหม อะไรที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รสนิยมไม่เหมือนกัน ก็ไม่ต้องตำหนิได้ไหม เหมือนการหว่านข้าว ที่ต้องการออกดอก ออกผล ไม่ใช่หว่านปุ๊บ ดีดนิ้วแล้วขึ้นมาเลย มันต้องมีเวลาของมัน เราต้องดูยาวๆ

            การเมืองเขาให้เวลา 4 ปี มหาวิทยาลัยก็เรียน 4 ปี เลข 4 มันถูกทำซ้ำจนเป็นทฤษฎีแล้วว่า 4 ปีกำลังดี ถ้า 4 ปีไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ได้ ตอนนี้เหลือเวลาอีก 2 ปี หากสิ่งนายกฯ แพทองธาร ทำแล้วเวิร์คออกดอก ออกผล วันนั้นลงคะแนนปี 2570 ก็เลือกพรรคเพื่อไทยต่ออีก 4 ปี ประเทศก็จะศิวิไลซ์ บางเรื่องอยู่ตั้งนานไม่ได้ทำกัน พอมารัฐบาลชุดนี้ทำ ผมคิดว่าประเทศกำลังไปได้ดี ถ้าไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีตึก สตง.ถล่ม ก็แค่ตึกโยกไปยกมาก็แค่นั้น ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ประกาศขึ้นภาษีเราก็ทำมาหากินกันต่อ

 - ได้มีการวางแผนการทำงานของทีมโฆษกรัฐบาลอย่างไรบ้าง เพื่อก้าวไปข้างหน้า

            ทุกวันนี้เราทำงานเป็นองคาพยพ ไม่ใช่แต่เฉพาะสำนักโฆษกฯ รวมถึงโฆษกกระทรวงด้วย เรามีช่องทางที่จะให้เขาทำงาน เขาอาจจะใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียของกระทรวง แต่ภาพรวมของประเทศก็ต้องรายงาน เราต้องทำงานเป็นองคาพยพ ซึ่งโชคดีที่รองโฆษกฯ มาจากพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคกล้าธรรม ทั้ง 3 พรรค ก็มีขาของเขาที่จะต้องไปทำในส่วนของรัฐมนตรีของเขา

            ผมได้ให้นโยบายไปว่า อะไรที่คุณคิดว่าเอามาไว้ตรงกลางได้ ให้เอามาไว้ เพราะเราคือรัฐบาล คนเขาไม่รู้หรอกว่า พรรคภูมิใจไทย ดูกระทรวงไหน เขารู้แค่ว่า อนุทิน ชาญวีรกูล ดูกระทรวงมหาดไทย พรรครวมไทยสร้างชาติก็ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน พรรคกล้าธรรม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์

            ผมโชคดีที่รองโฆษกฯ ทั้ง 3 คน ช่วยกันทำงานอย่างเป็นระบบ แรกๆอาจจะเล่นดนตรีไม่ตรงคีย์กันบ้าง แต่เดี๋ยวนี้บรรเลงเพลงไปพร้อมกันหมด 3 เดือนแรก เป็นช่วงการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งส่วนข้าราชการประจำข้าราชการการเมือง การปฏิบัติ วิธีทำ ก็โอเค ในภาวะที่คนโจมตีสูง ถ้าผมเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือเป็นโฆษกฯ ในยุครัฐบาลที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย ผมว่ามันกว่านี้เยอะ

            แต่แทนที่เราจะเอาเวลาไปประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่เป็นข่าวดีประเทศไทย แต่ต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งไปแก้ไขข่าวบูลลี่ เฟคนิวส์ ทำเสียเวลาประเทศ แต่ถ้าประชาชนตื่นรู้ว่า เรื่องนี้ไร้สาระ ตัดต่อภาพ ไม่ต้องอะไรมากมายประเทศก็ขับเคลื่อนได้ทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาไปทำเรื่องอะไรที่ไร้สาระ

 - ในฐานะที่เป็นโฆษกฯ อยากจะฝากอะไรถึงประชาชน

            เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยต้องก้าวไปข้างหน้า ถึงเวลาจุดหนึ่ง เราเบื่อผู้นำ เราก็เปลี่ยนด้วยบัตรเลือกตั้งของเรา ให้กลไกเดินไป ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้มากที่สุด ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย อยากรู้เรื่องอะไรก็คีย์คำสั้นๆ เข้าไปใน Google ก็มีข้อมูลขึ้นมา

            ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจปากท้องที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ต้องทำให้ได้ เพราะเรามีองคาพยพหลากหลาย การผลิตในประเทศ การนำเข้า การส่งออก การท่องเที่ยวอุตสาหกรรมต่างๆ มันต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ถ้าขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ และข้อมูลข่าวสารถึงประชาชน รัฐบาลก็มีความมั่นคง

            อยากฝากให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล และขอให้มั่นใจว่าการเป็นพรรคการเมือง การเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย ต้องดูแลประชาชน เพื่อให้เขารัก ชื่นชม และกลับมาเลือกตั้งใหม่

             สิ่งที่ทำทั้งหมด ทำเพื่อประชาชนและทำเพื่อประเทศชาติ ถ้าประเทศชาติดี ประชาชนอยู่ดีกินดีแน่นอนรัฐบาลก็อยู่ได้ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญ เพราะเราไม่ได้ปกครองในระบอบเผด็จการตรงนี้ก็อยากจะฝากประชาชนขอให้มั่นใจ