เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
เป็นเวลากว่า 7 เดือนกว่าที่ “แพทองธาร ชินวัตร” นั่งอยู่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2567 ภายหลังจากที่ “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นจากตำแหน่งปัจจุบันทันด่วน เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
และเมื่อ แพทองธาร ต้องเข้ามารับไม้ต่อ ในตำแหน่ง นายกฯคนที่ 31 เธอเองถูกคาดหวังในฐานะนายกฯหญิง ที่มีอายุน้อยที่สุด และยังเป็น “ลูกสาว” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันจังหวะที่เข้าบริหารประเทศ ยังพบว่ามีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง “ทีมข่าวการเมือง” ได้ประมวล 5 เหตุการณ์ที่สุดท้าทาย และทำให้เธอต้องรับมือกับแรงกดดันอย่างรุนแรง ดังนี้
@ ลุยโคลน “เชียงราย” -ฝ่าน้ำท่วม “ภาคใต้”
เปิดภารกิจรับการนายกฯ ของ แพทองธารด้วยอุทกภัยทางน้ำ จากอิทธิพายุยางิที่ลดระดับจากซูเปอร์ไต้ฝุ่น เป็นพายุดีเปรสชั่น ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 8-10 ก.ย. 2567 ทำให้ฝนตกหนัก บวกกับบริเวณต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา ที่มีการเปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมไม่มีที่ชะลอน้ำ เมื่อฝนตกหนักก็ทำให้น้ำหลากเข้าพื้นที่ประเทศไทย
ส่งผลให้อ.แม่สาย และอ.เชียงของ จ.เชียงราย เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน บางพื้นที่น้ำสูงจนถึงหลังคา ทำให้ประชาชนต้องอพยพไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ทำให้เราได้เห็นภาพความสามัคคีของคนไทย มูลนิธิต่างๆ ภาครัฐ เอกชน เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่แม่สาย
ขณะที่รัฐบาลได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. โดยมี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ได้มีการสั่งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม หน่วยทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ ทั้งเครื่องจักรและกำลังพล พร้อมกับอนุมัติงบประมาณ การจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย.2567 และวันที่ 8 ต.ค.2567 โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 14 อำเภอ 66 ตำบล โดยมี 2 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย โดยนายกฯ ได้สร้างความมั่นใจด้วยการ ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.เชียงใหม่ ถือครั้งแรกในรัฐบาล แพทองธาร
ขณะที่ช่วงปลายปีเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567 ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวม 98 อำเภอ 625 ตำบล 4,264 หมู่บ้าน
แต่ขณะนั้น “แพทองธาร” ยังไม่ได้ลงพื้นที่ทันที และยังสาละวนกับการฟื้นฟูภาคเหนือทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ภายหลังน้ำท่วม จนเกิดดรามาว่า นายกฯ ไม่สนใจคนใต้จนเกิดวลีเด็ดที่ว่า “สามีเป็นคนใต้ ถ้าละเลยคนใต้ ไม่รักคนใต้ คงแต่งงานกับคนใต้ไม่ได้ จากนั้นนายกฯ ได้ควง ปิฎก สุขสวัสดิ์ สามี ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลุยน้ำท่วมช่วยผู้ประสบภัย ก่อนที่จะนำทีมประชุม ครม.สัญจร ที่จ.สงขลา เมื่อวันที่ 17-18 ก.พ. ที่ผ่านมา
@ กราดยิงเรือประมง “4คนไทย” ถูกเมียนมาจับกุม
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 67 เกิดเหตุการณ์เรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนกราดยิง เนื่องจากเรือทั้ง 3 ลำ ล้ำเข้าไปในฝั่งน่านน้ำเมียนมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 2 ราย ยึดเรือประมง ส.เจริญชัย 8 และลูกเรืออีก 31 คน กลับไปฝั่งเมียนมา ซึ่งมีคนไทย 4 คน โดยทั้ง 4 คน ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเกาะสอง ประเทศเมียนมา
ทั้งนี้ไทยพยายามประสานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้ปล่อยตัวคนทั้ง 4 คน แต่ทางเมียนมาก็ยอมไม่ปล่อยตัว ทั้งยังให้ศาลจังหวัดเกาะสอง พิจารณาให้มีความผิด โดยตัดสินจำคุกเจ้าของเรือเป็นเวลา 5 ปี ในข้อหาลักลอบทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งหมด 6 ปี และปรับเป็นเงิน 200,000 จัต (ราว 3,200 บาท)
ขณะที่ลูกเรือไทยอีก 3 คน สั่งจำคุกคนละ 3 ปี ในข้อหาทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมา โดยไม่ได้รับอนุญาต และตัดสินจำคุก 1 ปีในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมจำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 30,000 จัต (ประมาณ 500 บาท)
จากกรณีนี้ตอนแรกไทยยังคิดว่า เมื่อศาลตัดสินให้มีความผิด อาจจะมีการอภัยโทษและปล่อยตัวคนไทยกลับในวันที่ 4 ม.ค. 2568 ซึ่งตรงกับวันชาติเมียนมา แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า เมียนมาปล่อยตัว 152 คนไทย ที่เป็นคดีการพนันออนไลน์ และไม่มีชื่อ 4 ลูกเรือประมงไทย
แต่สุดท้าย ในที่สุดเมียนมาได้อภัยโทษลูกเรือประมงไทยทั้ง 4 คนและอนุญาตให้ออกนอกประเทศได้ โดยสภาบริหารแห่งรัฐ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้ออกคำสั่ง 27/2025 เรื่องคำสั่งอภัยโทษ ลงวันที่ 27 มี.ค. 2568 ความว่า ประธานสภาบริหารแห่งรัฐได้ยกเลิกโทษของพลเมืองไทย 4 รายจากเรือนจำเกาะสองและพลเมืองฟิลิปปินส์ 3 รายจากเรือนจำฮปาอัน
ตามมาตรา 401 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีเงื่อนไขว่า หากกระทำความผิดซ้ำอีกในครั้งต่อไป บุคคลดังกล่าวจะต้องรับโทษใหม่ พร้อมกับการยกเว้นโทษที่ถูกตัดสิน และให้เนรเทศออกจากเมียนมา โดยเน้นที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศและเหตุผลด้านมนุษยธรรม
@ ส่ง “40 อุยกรู์” กลับจีน “รัฐบาลไทย” โดยถล่มหนัก
กลายประเด็นร้อนเมื่อมีภาพรถบรรทุกหลายคันปิดด้วยเทปสีดำที่หน้าต่าง วิ่งออกจากสถานกักตัวคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สวนพลู ในเวลา 02.14 น. ของวันที่ 27 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นสถานที่กักขังชาวอุยกูร์ 40 คนที่ถูกควบคุมตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557
จากนั้นพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ยืนยันว่า สตม. ได้ส่งกลับชาวอุยกูร์ไปยังประเทศจีนจริง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐบาลไทย พร้อมระบุว่า ได้รับคำมั่นอย่างเป็นทางการจากจีนจะรับประกันความปลอดภัย และสวัสดิภาพของชาวอุยกูร์ที่ส่งกลับไป โดยได้ส่ง พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร. ตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทย ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. ไปร่วมสังเกตการณ์การรับตัวชาวอุยกูร์ที่ฝั่งจีนด้วย
ขณะที่ทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่ภาพชาวอุยกูร์ ที่เดินทางถึงเขตการปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และมีญาติมาต้อนรับ โดยมีฉัตรชัย เลขาธิการ สมช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง จากกระทรวงการต่างประเทศของไทยปรากฏอยู่ในภาพร่วมกับชาวอุยกูร์ด้วยบรรยากาศชื่นมื่น
ช่วงค่ำของวันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ และ พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ร่วมแถลงข่าวส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน
โดยมีการโทรศัพท์ทางไกลร่วมกับ นายฉัตรชัย และพล.ต.อ.ไกรบุญ โดยยืนยันว่า การส่งกลับชาวอุยกูร์เป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครถูกบังคับ ยึดหลักกฎหมายสากล และพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย นอกจากนี้ทางไทยจะเข้าตรวจสอบความปลอดภัยของพวกเขา เป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าเป็นไปตามคำมั่นที่ทางจีนให้ไว้กับไทยหรือไม่
แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังดังอยู่ ทั้งสหประชาชาติ (UNHRC) ฝ่ายการเมืองจากฝ่ายค้านและวุฒิสภา ที่ออกทวงถามรัฐบาลว่า ชาวอุยกูร์ที่ส่งกลับ ไปด้วยความสมัครใจหรือไม่ กลับจีนแล้วจะมีความปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงกรณีนายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้มีการนำจดหมายจากชาวอุยกูร์ที่ระบุว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับจีนออกมาเผยแพร่
ทางฝ่ายรัฐบาลโดย ภูมิธรรม ก็ท้าพิสูจน์ด้วยการพาสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไปติดตามความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์ที่จีน ซึ่งได้มีเผยแพร่ภาพที่พักอาศัย ครอบครัว และได้รับความปลอดภัยพร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีการเขียนจดหมายดังกล่าว
@ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไทย “ตึกสตง.” ถล่ม
ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าประเทศไทยจะเกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับมัณฑะเลย์ เมียนมา ขนาด 7.7 ริกเตอร์ แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่รวม 63 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับความเสียหายจำนวน 18 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้ง
โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ความเสียหายที่เห็นได้ชัดคือเครนก่อสร้างคอนโดมิเนียม ย่านบางโพ ถล่ม ทำคนงานบังคับเครนตกจากที่สูง เสียชีวิต 1 คน และอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ 30 ชั้นที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา ส่งผลให้มีได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถนำผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่ได้ทั้งหมด
ขณะที่นายกฯ เองวันที่เกิดเหตุอยู่ระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายด้านการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ยกเลิกการประชุมพร้อมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทันที โดยเมื่อกลับมาถึงนายกฯ ได้ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นในวันที่ 29 มี.ค. 68 นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก่อนที่จะไปสถานที่เกิดเหตุ เพื่อติดตามความคืบหน้า รวมถึงการสอบสวนหาคนรับผิดชอบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว
@ ตั้งรับ “นโยบายทรัมป์” ขึ้นภาษีไทย36%
ภายหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำในอัตรา 10% จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบ และจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68
จากนั้น วันที่ 3 เม.ย. 68 แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ได้ออกแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน(Reciprocal Trade and Tariffs) ทั้งนี้ไทยพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ และได้มีการตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2568
ประเทศไทยมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ที่จะสร้างเสถียรภาพและสมดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ ในระยะยาว มีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นหนึ่งในกลุ่มมิตรประเทศเพื่อการลงทุน
ต่อมา นายกฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 พร้อมยอมรับว่า นโยบายสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 36% นั้น กระทบการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เกษตร โดยเล็งเพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ด้านพลังงาน อากาศยาน พร้อมสร้างความร่วมมือภาคเกษตร อุตสาหกรรม
โดยเมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายกฯ ประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐฯ โดยมี 5 แนวทาง คือ 1.ต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ และได้เปรียบดุลการค้า 2.ผ่อนคลาย มาตรการจัดเก็บภาษี เพื่อส่งเสริมการนำเข้า 3.ลดขั้นตอนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ 4.เพิ่มมาตรการคุมเข้มสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน และ5.หาโอกาสลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้มาตรการทั้งหมด ต้องคำนึงถึงศักยภาพของไทย และไทยต้องได้ประโยชน์ รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาแบบ วิน-วิน ทั้งไทยและสหรัฐฯ ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.การคลัง จะนำคณะไปพูดคุย และจะคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมร่วมทีมเจรจา แต่ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการเดินทาง เพราะทุกอย่างต้องทำให้รอบคอบและเป็นขั้นตอน
ล่าสุดรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการบังคับใช้ภาษีแบบต่างตอบโต้ในอัตราที่สูงกว่าฐานกับ 56 ประเทศและสหภาพยุโรป (อียู) เป็นเวลา 90 วัน โดยให้ใช้อัตราฐานที่ 10% แทนไปก่อน ภายหลังเผชิญแรงกดดันอย่างมากจากผู้นำภาคธุรกิจและนักลงทุนให้เปลี่ยนนโยบายและมีการติดต่อขอเจรจา