เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว
หมายเหตุ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ตลอดสมัยประชุมที่ผ่านมา ถูกจับตามาโดยตลอด ทั้งในแง่ “นิติบัญญัติ” ต้องขับเคลื่อนภารกิจในสภาฯ ทั้งด้านการผลักดันกฎหมายสำคัญ การพิจารณาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ขณะเดียวกัน สภาฯ ยังกลายเป็นการหนึ่งในเวทีทางการเมือง ให้ “ฝ่ายค้าน” ได้ตรวจสอบการทำงานของ “ฝ่ายบริหาร”
“การเมืองสยามรัฐ” สัมภาษณ์พิเศษ “ภราดร ปริศานนันทกุล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ถึงบทบาทในการควบคุมการประชุมสภาฯที่วาระที่การเมืองเต็มไปด้วยความเข้มข้น
-ภาพรวมการทำหน้าที่ในการประชุมสภาฯที่ผ่านมา หลังเข้ามารับตำแหน่งพอใจหรือไม่
เราก็ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ และตามรัฐธรรมนูญ ส่วนพอใจหรือไม่ก็ต้องถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าพอใจกับการปฏิบัติหน้าที่ไหม และถามประชาชนว่าดูแล้วพอใจกับการทำหน้าที่ไหม ผมคิดว่าการโต้ตอบกันของสมาชิกในห้องประชุม ทุกคนมีวุฒิภาวะ ทุกคนมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พูดกันด้วยเหตุและผล เชื่อว่าทุกคนรับฟังเหตุ รับฟังผล และที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ด้วยดี
-การยกระดับสภาฯ ควรเป็นอย่างไร
ตามดำริของท่านประธานสภาฯ คือท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา มองว่า จะทำอย่างไรให้สภาฯเป็นของประชาชน และให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงทั้งในด้านกายภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร สถานที่ รวมถึงทรัพยากรต่างๆของสภาฯเช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์ อาคารสถานก็จะเปิดให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ของสภาฯ
การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในสภาฯต้องโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลการทำหน้าที่ของสส. ก็ต้องเข้าถึงได้โดยง่าย เว็บไซต์ของสภาฯจะต้องเป็นศูนย์รวมของข้อมูลทั้งหมดของสภาฯ รวมถึงข้อมูลของสส.ด้วย กำลังเร่งทำเว็บไซต์ของสภาฯให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เต็มที่มากขึ้น
-การทำหน้าที่ล่าสุดได้รับเสียงชื่นชมความเด็ดขาด เพื่อควบคุมการประชุม ถือว่าสะท้อนการทำหน้าที่ของทั้งปธ.และตัวสส.อย่างไร
ผมไม่ได้ทำอะไรพิเศษไปกว่าการประชุมในส่วนอื่น เราก็ยึดรัฐธรรมนูญ ยึดข้อบังคับ ยึดความถูกต้องยึดหลักเหตุผล เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกของการทำหน้าที่ตามปกติเท่านั้น
-ใครบ้างควรมีส่วนในการยกระดับสภาฯ
ผมว่าทุกคน ทั้งในส่วนของสส. คนที่ทำหน้าที่ประธาน และในส่วนของบุคลากรของสภาฯ ทั้งหมด การยกระดับสภาฯไม่ใช่ยกระดับแต่เฉพาะคนที่ทำหน้าที่ประธาน แต่ทุกคนต้องช่วยกันยกระดับ
-การทำหน้าที่ "ประธาน" ในการประชุมสภาฯ ในท่ามกลางความขัดแย้ง หรือความเห็นต่างทางการเมือง ในการพิจารณาวาระสำคัญ และร่างกฎหมายสำคัญ เราจะใช้หลักการทำหน้าที่อย่างไร
เป็นเรื่องปกติของสภาฯ จริงๆมันไม่ใช่เฉพาะสภาฯในประเทศไทย แต่เป็นเหมือนสภาฯทั่วโลก ที่มีการถกเถียง มีความเห็นแย้งกัน เป็นเรื่องปกติของระบบประชาธิปไตย ถ้าทุกคนเห็นคล้อยกันหมดก็คงไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ
เพราะฉะนั้นอันนี้ต้องให้สังคมมองว่าเป็นความปกติ มีการถกเถียง ซึ่งในความปกติคือการถกเถียงอย่างมีเหตุผล ด้วยข้อมูล ด้วยเหตุ และด้วยผล สุดท้ายจะตัดสินใจอย่างไร ก็ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน
-หากเทียบกับสภาฯต่างประเทศ กับไทยแล้วเป็นอย่างไร อย่างฮังการี สส.เอาพลุเข้าไปจุดประท้วงกัน
อย่างที่บอกในทุกสภาฯ ในทุกประเทศ มันมีความเห็นต่างกันทั้งหมดในระบอบประชาธิปไตย ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคนมีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทุกคนต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง อยู่ที่วุฒิภาวะของแต่ละคนว่าจะควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่าง และจะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้มากน้อยแค่ไหน
-วันนี้ทั้งสองสภาฯ วุฒิสภา-สภาผู้แทนฯ ต่างถูกจับตาในการทำงาน ขณะเดียวกันยังเป็นที่หวังของประชาชน ที่จะผลักดันกฎหมายสำคัญ ออกมา ดังนั้นการทำงานระหว่างสองสภาฯ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด
เป็นสภาฯคู่ขนาน เป็นสภาพี่เลี้ยง สำหรับสว.มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ นอกจากการกลั่นกรองกฎหมายแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระ มีหน้าที่เห็นชอบหรือไม่กับการแต่งตั้งบุคคลเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระต่างๆ ดังนั้นการทำงานที่มีจุดร้อยกัน คือการทำกฎหมายก็เป็นอำนาจที่แยกขาดจากกัน ไม่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ต่างคนก็ต่างเห็นไปในมุมของตัวเอง
เมื่อสภาสูงไม่เห็นด้วยกับสภาฯล่างเขาก็มีสิทธิ์ตีกลับมา เมื่อตีกลับมาสภาล่างจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตั้งกรรมาธิการร่วม ซึ่งเป็นกลไกที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นกติกาของสังคม
-วันนี้หากให้ประเมิน "ความเชื่อมั่น" ของพี่น้องประชาชน ที่มีต่อสภาฯ เป็นอย่างไรบ้าง
ต้องดูก่อนว่าประชาชนเขามองมาที่สภาฯอย่างไร ด้วยท่าทีแบบไหน เสียงสะท้อนที่เห็นคือ มีตำหนิบ้าง ในจังหวะ หรือโอกาสที่สภาฯใช้เวลาของพี่น้องประชาชนไม่ตรงไปตามเจตนารมณ์ของเขา ก็ตำหนิการทำหน้าที่ เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่ประธานฯก็มีหน้าที่เตือนสติเพื่อนสมาชิก และมีหน้าที่ในการควบคุมให้การประชุมดำเนินการไปบนหลักของเหตุและผล และถกเถียงกันบนเหตุและผล ไม่ถกเถียงกันเรื่องไร้สาระ
เมื่อไหร่ก็ตามออกไปในเรื่องไร้สาระ คนที่ทำหน้าที่ประธานก็จะต้องควบคุมให้กลับเข้ามาอยู่ในสาระสำคัญให้ได้ เป็นโจทย์ที่ประธานจะต้องทำเกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ
เพราะฉะนั้นความขัดแย้งในที่ประชุม ไม่ใช่การตีรวนของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพียงแต่คิดไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะเอาเรื่อง ก.ไก่ ขึ้นมาก่อน แต่อีกฝั่งเห็นว่าควรจะเอาเรื่อง ข.ไข่ ขึ้นมาก่อน ซึ่งทั้งสองคนก็เสนอญัตติแข่งกัน
ก็เป็นกติกาของสภาฯ มีข้อบังคับรองรับ คนที่ทำหน้าที่ประธานฯก็ดำเนินการไป เมื่อมีการเสนอแข่งกันจำเป็นต้องให้สภาฯตัดสินใจว่าจะเลือกญัตติของใครดำเนินการก่อน ก็ไม่มีอะไร
-การประชุมสภาฯสมัยหน้าอาจจะร้อนแรงมากขึ้นหรือไม่
ผมมองว่าจริงๆแล้วมันก็จบเป็นครั้งๆไป ครั้งนี้จบไปแล้ว คงไม่ย้อนกลับมาพูดเรื่องเก่า ส่วนสมัยประชุมหน้าจะร้อนแรงไหม ผมว่าไม่มีอะไร ผมเชื่อในวุฒิภาวะของสมาชิกทุกคน เราก็ยึดหลักข้อบังคับเป็นเข็มทิศในการที่จะนำพาให้สภาฯดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
-อยากให้ประเมินการทำงานในสมัยประชุมหน้าจะเป็นอย่างไร
อยากให้สังคมเป็นคนประเมิน ให้ประชาชนประเมิน ให้สมาชิกเขาช่วยประเมิน เสียงสะท้อนของสังคม เสียงสะท้อนของสมาชิก เป็นโจทย์ เป็นคะแนน ที่เราจะต้องสดับรับฟังแล้วก็นำไปแก้ไขในคำตำหนินั้น
“อยากจะบอกว่าเราทุกคนมาจากการกาบัตรของประชาชน เพราะฉะนั้นประชาชนทุกคนเขาคาดหวังกับการทำหน้าที่ของพวกเรา ก็ให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง ตรงไปตรงมา”
-การทำหน้าที่สมัยแรกได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชน มีอะไรจะฝากถึงคนที่เป็นกำลังใจให้หรือไม่
ขอบคุณที่ติดตามการทำหน้าที่ของสส. ผมว่าประชาธิปไตยจะเติบโตได้ ส่วนใหญ่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการ การทำหน้าที่ของสส. ยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ การเติบโต การตรวจสอบนักการเมืองก็มีมากขึ้น
ส่วนนักการเมืองเองเมื่อมีประชาชนเพ่งเล็งตรวจสอบมากขึ้น หรือมีส่วนร่วมทุกกระบวนการของนักการเมือง เขาก็จะต้องระมัดระวังตัว และประพฤติตัวให้ไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นประชาชนจะมีส่วนสำคัญ อย่างมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
-การเมืองหลังสงกรานต์ เพราะอาจจะมีม็อบเกิดขึ้นบนถนน
สภาฯปิดแล้ว เรื่องร้อนแรงอาจจะเบาบางลงบ้าง ส่วนฝ่ายบริหารจะมีเรื่องไหนที่ทำแล้ว สังคมไม่ปรารถนาหรือเปล่า เราตอบไม่ได้