รมว.คลัง และ กระทรวงพาณิชย์ หารือภาคเอกชน กำหนดแนวทางดำเนินการของไทยต่อมาตรการทางการค้าสหรัฐ หลังเสนอตั้ง “ทีมไทยแลนด์” กำหนดยุทธศาสตร์​

วันที่ 11 เมษายน 2568 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการรับมือกับมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม พร้อมเชิญภาคเอกชนหลักได้แก่ นายพจน์​ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รวมถึง​ผู้​ประกอบการ​เข้าหารือ​ หลัง​จาก​ที่​มีข้อเสนอของภาคเอกชน​ให้จัดตั้ง “ทีมไทยแลนด์” ที่มีตัวแทนเอกชนร่วมกำหนดกรอบเจรจา​ปรับดุลการค้า

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวก่อนประชุมว่า แนวทางหลัก 5 ประการที่รองนายกรัฐมนตรีแถลงก่อนหน้านี้เป็นกรอบที่เหมาะสม ขณะนี้ต้องลงลึกถึงรายละเอียด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สหรัฐฯ ต้องการส่งเข้ามายังไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เช่น สุกร ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้เลี้ยงสุกรไทยแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างชัดเจน พร้อมย้ำว่าหอการค้าไทยมิได้สนับสนุนการนำเข้าสินค้าที่กระทบต่อเกษตรกร เพียงแต่เสนอข้อมูลให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่สหรัฐ​อเมริกา​ต้อง​การให้นำเข้า​มาโดยตลอด​ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อากาศยาน อาวุธ​ จึง​ต้อง​กำหนด​ยุทธศาสตร์​การเจรจาว่า​ รายการ​ใดตกลงได้​และ​รายการ​ใดควรสงวนท่าที

ทั้งนี้ การเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ออกไป ช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อสินค้าที่เตรียมส่งออกในเดือนเมษายน โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ระหว่างขนส่ง ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 30–50 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกและผู้นำเข้ายังมีความกังวลต่ออัตราภาษีใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน ส่วนแนวทางเยียวยาจากภาครัฐนั้น ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนด เพราะต้องรอดูอัตราภาษีสุดท้ายจากสหรัฐฯ ก่อน แต่เชื่อว่า​ ผลกระทบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นแน่นอน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ระบุว่า ส.อ.ท. ได้วิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการภาษีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ พร้อมพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบกับประเทศคู่แข่ง วันนี้​นำผู้ประกอบการร่วมให้ข้อมูลเพื่อจัดทำแนวทางเจรจา​ แต่กังวลว่า​ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในที่ประชุมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง และคาดหวังว่า​ จะได้ข้อสรุปถึง​ยุทธศาสตร์​การเจรจาที่​ชัดเจน​ในวันนี้ โดยเน้นการพิจารณาสินค้านำเข้า-ส่งออก อย่างรอบด้าน ที่​สำคัญ​คือ​ การพิจารณา​นำเข้าสินค้าชนิดใด​ จะต้องไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกร พร้อมย้ำหลักการสำคัญคือ “ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” ในการปรับสมดุลทางการค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ไม่มีการเชิญนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม แม้ภาคเกษตรกรรมจะเป็นภาคส่วนสำคัญที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก และยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากการเปิดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่อาจซ้ำเติมเกษตรกรในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นางนฤมล ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะไม่ยอมนำภาคเกษตรไทยไปแลกกับดีลภาษีสหรัฐฯ เพราะอาจเป็นการ “ฆ่าเกษตรกรไทย” ซ้ำรอยการเปิดนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลียและนมผงจากนิวซีแลนด์ภาษี 0% ซึ่งเคยส่งผลให้ราคาภายในประเทศตกต่ำมาแล้ว