"วันนอร์" สรุปภาพรวมนำผู้แทนรัฐสภาไทยร่วมประชุม IPU ครั้งที่ 150 เผยประธาน IPU ชื่นชม "กัณวีร์" เสนอญัตติด่วนสิทธิมนุษยชนเมียนมา-ยินดี "สว.นพดล" นั่งรองคณะทำงานวิทยาศาสตร์ IPU พร้อม - ยืนยันสมาชิกรัฐสภาไทยได้แสดงบทบาทในเวทีโลก
วันที่ 11 เม.ย.2568 ที่กรุงทาชเคนท์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา สรุปผลการนำคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 หรือ IPU และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4 - 11 เม.ย.ว่า ตนได้มีโอกาสนำผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าพบหารือทวิภาคี ร่วมกับประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน โดยทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องว่า ควรมีความร่วมมือในทุกมิติเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ได้เพิ่มความสัมพันธ์ในทุก ๆ ด้าน เช่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ดี และโดยเฉพาะในการเข้าพบ และหารือทวิภาคี ร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ที่ได้มีการจัดตั้งสมาชิกรัฐสภากลุ่มมิตรภาพอุซเบกิสถาน-ไทยแล้ว ซึ่งไทยจะรีบดำเนินการให้มีกลุ่มมิตรภาพดังกล่าวขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนการเยือน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้มากขึ้น
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ได้ขึ้นปราศรัยในที่ประชุมของ IPU ว่า ประเทศอุซเบกิสถานได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ เหมือนที่ไทยกำลังดำเนินการ แต่อุซเบกิสถาน ดำเนินการสำเร็จไปมากกว่า 80% แล้ว เพื่อขยายอำนาจให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้น ลดอำนาจฝ่ายบริหาร และตุลาการ ซึ่งเป็นทัศนะที่ใหม่มาก โดยประธานาธิบดีอุซเบกิสถานให้เหตุผลว่า ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องยอมรับและให้เกียรติผู้แทนปวงชน ส่วนรัฐบาลหรือตุลาการนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเสริมอำนาจของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไทยก็ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่อาจยุ่งยากกว่าอุซเบกิสถานซึ่งต้องต่อสู้กันต่อไป และสำหรับอุซเบกิสถานก็ถือเป็นเรื่อง ที่ดีแม้เพิ่งได้รับเอกราชมาราว 30 ปี แต่ยังสามารถพัฒนาประชาธิปไตย และได้เห็นบ้านเมืองของอุซเบกิสถานที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลก
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังย้ำถึงการประชุม IPU ในครั้งนี้ว่า มีหลายกรอบวาระ รวมไปถึงการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี และการประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการทำงานร่วมกับสหประชาชาติที่มีคณะกรรมาธิการอีกชุดหนึ่ง และยังมีกรรมาธิการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่มีนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรมเป็นกรรมาธิการ ที่ทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อดูแลสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
นอกจากนั้น ในการประชุมกรอบการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา มีการเสนอญัตติเพื่อบรรจุเป็นวาระฉุกเฉิน หรือ เร่งด่วน Emergency Item 4 เรื่องโดยญัตติแรก เป็นเรื่องผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา, ญัตติต่อมาเสนอโดยไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เกี่ยวกับสถานการณ์แผ่นดินไหว และสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งญัตตินี้นายกัณวีร์ ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทยขึ้นนำเสนอต่อที่ประชุม, ญัตติที่ 3 เป็นเรื่อง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง สถานการณ์ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งในซูดาน ที่รวมเป็นเรื่องเดียวกัน และญัตติที่ 4 อิสราเอลเสนอเรื่องผู้ลี้ภัยในกาซา แต่ญัตติที่ 4 ดังกล่าว มีผู้คัดค้านหลายคน ดังนั้น เมื่ออิสราเอลเสนอญัตติเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอถอนญัตติดังกล่าวออกไป ทำให้เหลืองเพียง 3 เรื่องที่ลงมติกัน โดยญัตติเรื่องสถานการณ์เมียนมาร์ ที่นายกัณวีร์ ได้ขึ้นเสนอต่อที่ประชุม แม้จะได้รับคะแนนเห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 และทำให้ญัตติตกไป แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 600 กว่าคะแนน เช่นเดียวกับ 2 ญัตติที่เหลือ แต่เสนอญัตติของไทย ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิก IPU
“ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ประเทศไทยมีบทบาทค่อนข้างมาก ในเวทีประชุมครั้งนี้ ดังจะเห็นได้จากคะแนนสนับสนุนสูงสุด ที่เกินครึ่งหนึ่งไปมาก แต่ยังไม่ถึง 2 ใน 3 ที่จะทำให้ญัตติผ่านได้ ซึ่งขาดเพียงไม่กี่คะแนน แต่ก็ถือว่า ไทยได้แสดงจุดยืนและท่าทีในเรื่องของสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม แผ่นดินไหว และสถานการณ์ในเมียนมาที่ชัดเจนต่อชาวโลก ถ้าจะถามว่าการเข้าร่วมประชุม IPU ครั้งนี้ได้ประโยชน์หรือไม่ ก็ถือว่าได้ประโยชน์มาก และสภาของเรา ได้มาทำงานอย่างเต็มที่ในแต่ละกรรมาธิการ และผมได้พบกับประธาน IPU ซึ่งเป็นสตรี ซึ่งชมเชยผู้แทนสมาชิกรัฐสภาไทยในการประชุม กรรมาธิการต่าง ๆ ซึ่งผู้แทนฝ่ายไทย แสดงความคิดเห็นเต็ม ที่ได้รับการยอมรับจากที่ประชุม โดยเฉพาะประธาน IPU ชื่นชมนายกัณวีร์มาก ที่ได้เสนอความคิดเห็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน" ประธานรัฐสภา กล่าว
นายวันมูหะมัดนอร์ ยังเปิดเผยว่า ในคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีมติเลือกนายนพดล อินนา สมาชิกวุฒิสภาของไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะทำงานชุดดังกล่าว ซึ่งในอนาคตรองประธาน จะได้มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานด้วย
เมื่อถามว่ามติของที่ประชุม IPU ในครั้งนี้ รวมทั้งรายงานของคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไรนั้น ประธานรัฐสภา กล่าวว่า แต่ละประเทศ จะต้องนำมติตามที่ที่ประชุม IPU มีมติไปผลักดันเป็นกฎหมาย ตามกระบวนการรัฐสภาของแต่ละประเทศ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เน้นโครงการความยั่งยืน และเน้นให้การทำงานให้เห็นผลไม่เพียงแต่บรรจุเป็นข้อญัตติเท่านั้น แต่ทุกญัตติต้องถูกกลั่นกรองให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม