เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 11 เม.ย. 68 ที่ตึกภักดีบดินทร์ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยวไทย โดยมีตัวแทนสำนักงานท่องเที่ยวต่างประเทศในประเทศต่างๆ 34 ราย ร่วมประชุมผ่านระบบซูม โดยนายกฯกล่าวว่า อย่างที่ทราบกันว่าปีนี้เราประกาศไปว่าเป็นปีAmazing Thailand Grand Tourism and Sports Year ซึ่งเราพยายามยกระดับเรื่องการท่องเที่ยวให้ทั่วโลกยอมรับมากขึ้น และเห็นเราในมิติใหม่ๆมากขึ้น ที่เป็นมากกว่าสถานที่ที่ว่าประเทศไทยมีแค่วัดสวย เราพยายามจะเปลี่ยนมิติใหม่ๆให้การท่องเที่ยวมีอะไรเพิ่มขึ้น มีทางเลือกเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเราพยายามโปรโมทว่าประเทศไทยเราเที่ยวได้ทุกเดือน ตามฤดูต่างๆก็มีประเทศที่ชอบต่างๆกัน เช่น ฤดูฝน ประเทศทีไม่ค่อยมีฝนก็ชอบ และอยากจะมาท่องเที่ยว ฉะนั้นเราก็จะพยายามทำให้การท่องเที่ยวของเราน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า หลังจากช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมายอดการท่องเที่ยวของเราก็ตกลง ซึ่งเราก็พยายามจะเร่งกลับไป แต่โชคร้ายนิดนึงที่มีเรื่องของแผ้นดินไหว ซึ่งจริงๆต้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันโปรโมทว่ามันไม่ได้มีความเสียหายในจุดอื่นๆ นอกจากเหตุการณ์ตึกสตง.ถล่มที่เห็นชัด แต่นอกเหนือจากนั้นในกรุงเทพฯก็ปลอดภัย ไม่ได้มีอะไรและไซต์งานตรงนั้นก็เริ่มเคลียร์ให้เรียบร้อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อเราดูเข้าไปในไส้ในแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเงินที่เขาเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ เราต้องให้นักท่องเที่ยวเรามีจุดหมายในการท่องเที่ยว จากที่มา 2-3 วันแล้วไป เราทำได้ไหมให้เกิดการอยู่ยาวมากขึ้น เช่น ให้มารักษาตัว และการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไปยังชาติต่างๆก็ต่างกัน นอกจากนี้ การบอกว่าอยากได้นักท่องเที่ยวมากข้น แต่ถ้าสิ่งอำนวยความสะดวก การบริการ เราไม่ตอบโจทย์เขา ก็อยากให้ทำทุกรูปแบบให้ครบวงจร
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 67 อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท แต่ตัวเลขปี 62 ก่อนโควิด 2.2 ล้านล้านบาท เราไม่ขอพูดตัวเลขที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่จะทำอย่างไรให้ตัวเลขไปถึงยอดเดิมที่เราเคยได้
โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย แนวโน้มด้านการท่องเที่ยว และตลาดกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งกลุ่มตลาด 20 อันดับแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด เปรียบเทียบช่วงก่อนโควิดและปัจจุบัน /ความแตกต่าง เพิ่มขึ้น-ต่ำลง) นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา New KPI and New Value Based Strategy และแนวทางการจัดทำกลยุทธ์และแผนการตลาด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง
นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและมีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ติดตามและผลักดันการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมีวัตถุประสงค์ โดยเน้นแรงจูงใจ ผลิตภัณฑ์ และซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านการให้บริการและอาหาร จำเป็นต้องใช้จุดแข็งเหล่านี้ในการพัฒนาและต่อยอด ขอให้ทุกภาคส่วน พูดคุยหารือกับภาคเอกชน เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน หากมีการดึงการลงทุนเข้ามา รัฐควรพิจารณามาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การหาตลาดใหม่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ การดำเนินโครงการร่วมกับ OTA โดยให้ภาคเอกชนในพื้นที่การท่องเที่ยวมีส่วนร่วมและเสนอแนะแนวทางแก่ภาครัฐ ถือเป็นการเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ จากมุมมองที่แตกต่างกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ขอให้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น เทศกาล “ดิวาลี” (Diwali) ซึ่งเป็นเทศกาลที่ร่ำรวยวัฒนธรรม ทั้งด้านอาหาร ศิลปะการเพ้นท์ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขยายพื้นที่การลงทุน และสร้างแคมเปญประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย