แพทย์ มช. ห่วงนักดื่มคอทองแดง ช่วงเทศกาลที่จะถึงหากดื่มหนักติดต่อกันหลายวัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แนะประชาชนเลือกดื่มอย่างจำกัด หรือเลิกดื่ม เพื่อสุขภาพ
 

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า โทษของการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออวัยวะภายในของร่างกาย มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะสะสม นอกจากสุรามีผลต่อการทำงานของตับ ตับอ่อน และกระเพาะอาหารอย่างที่ทราบกันแล้ว ยังมีผลต่อระบบประสาท ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด และอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้ หากดื่มสุราติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานหรือติดเหล้า จะส่งผลอย่างแน่นอนกับระบบความจำ ระบบประสาท ระบบเลือด และความดัน

ล่าสุดพบผู้ป่วยมะเร็งที่คอ สาเหตุหลักมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งจริง จากสถิติพบว่า ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ประชาชนมักจะตั้งวงสังสรรค์และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะเสี่ยงอุบัติเหตุแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานก็เสี่ยงเป็นมะเร็ง ได้เช่นกัน และมักจะมีคำถามตามมาว่า “ดื่มเท่าไหร่ถึงเป็นมะเร็ง และเป็นมะเร็งส่วนไหนได้บ้าง”

ซึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเอทานอลและอะซีตัลดีไฮด์ ทำให้ DNA คนเราเปลี่ยน ส่งผลให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณต่างๆ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ในส่วนต่าง ๆของร่างกายดังนี้
1. มะเร็งช่องปากและคอ
- ดื่มหนัก (50 กรัมต่อวัน หรือ 4-5 แก้ว) = ความเสี่ยงพุ่ง 5 เท่า
- ดื่มปานกลาง (1-4 แก้ว) = ยังเพิ่ม 1.8-2 เท่า  
2. มะเร็งหลอดอาหาร
- ดื่มหนัก = 4-5 เท่า  
- ดื่มปานกลาง = 1.5 เท่า  
3. มะเร็งตับ
- ดื่มหนักเรื้อรัง (60 กรัมต่อวัน) = 2-3 เท่า  
4. มะเร็งเต้านม  
- ดื่มแค่ 10 กรัม (1 แก้ว) = เสี่ยงเพิ่ม 7-10%  
- ดื่ม 50 กรัม = 1.6 เท่า  
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- ดื่มหนัก = 1.5 เท่า  
- ดื่มปานกลาง = 1.2 เท่า  

โดยหลักการคำนวนคือ 1 แก้วมาตรฐาน เท่ากับ แอลกอฮอล์ 10 กรัม เช่น เบียร์ 330 มล. (5%), ไวน์ 100 มล. (12%), หรือเหล้า 30 มล. (40%) อย่างไรก็ตามหากดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ไปด้วย ความเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ โดยเฉพาะมะเร็งช่องปาก คอ และหลอดอาหาร เรียกได้ว่าเป็น “คอมโบเซ็ตตายผ่อนส่ง”  

ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ ดื่มให้น้อย หรือเลิกดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
 
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ติดตามผ่านทาง Facebook : https://cmu.to/mf39P

#ดื่มเหล้าเท่ากับมะเร็ง #ดื่มแอลกอฮอล์ #เชียงใหม่ #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU