ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้ายังสูง กดดันการส่งออกและการลงทุน คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 1.5% ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน เพื่อเปิดให้เจรจา แต่ความเสี่ยงใหญ่ของโลกยังคงอยู่
วันที่ 11 เมษายน 2568 SCBEIC ระบุว่า ในวันที่ 9 เม.ย. ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariff) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ มีโอกาสเจรจาปรับลดภาษี แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำทุกประเทศที่ 10% ไว้ ขณะที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีกหลายรอบ รวมเป็น 145% หลังจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ นำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบของสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก
แม้สหรัฐฯ จะเปิดช่องให้เจรจาภาษีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า แต่ SCB EIC มองว่า มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหญ่ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2025 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูง อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ตั้งให้สินค้าจากไทยที่ 36% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง สะท้อนสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ที่สูง โดยอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงเป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (17%) และค่าเฉลี่ยเอเชีย (23%) จึงต้องจับตามองการเจรจาที่จะเกิดขึ้นว่าจะสามารถลดอัตราภาษีนำเข้านี้ได้มากน้อยอย่างไร ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%) จากทั้งสงครามการค้าและแผ่นดินไหว รวมทั้งประเมิน กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีครั้งใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีและแก้ปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน รัฐบาลควรเจรจาบนผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่างๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าคาดเยอะ เนื่องจากจะจัดเก็บทั้งภาษีขั้นต่ำและภาษีตอบโต้รายประเทศ นอกเหนือจากภาษีเฉพาะประเทศ/สินค้า
เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศทุกสินค้า 10% (Universal tariffs) ยกเว้นเม็กซิโกและแคนาดา เริ่มใช้ 5 เม.ย. พร้อมขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal tariffs) กับ 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง ในอัตราต่างกัน ขึ้นกับดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้นจะเริ่มใช้ 9 เม.ย.
แต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ประธานาธิบดีทรัมป์กลับประกาศเลื่อนกำหนดปรับขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariffs) ออกไป 90 วัน เป็นเริ่มมีผล 8 ก.ค. แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศเพิ่ม 10% (Universal tariffs) โดยสหรัฐฯ จะให้เวลาประเทศต่างๆ 90 วัน เพื่อเจรจาต่อรองให้อัตราภาษี Reciprocal tariffs ลดลง สำหรับจีน ทรัมป์กลับประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกหลายรอบ ทำให้กำแพงภาษี Reciprocal กับจีนอยู่ที่ 125% และภาษีเฉพาะเจาะจงที่ 20% รวมเป็น 145% เพื่อตอบโต้จีนที่ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กลับสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ก่อน
นอกจากชุดภาษี Universal และ Reciprocal tariffs นี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเฉพาะ (Specific tariffs) รายประเทศ/รายสินค้าหลายรายการตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดการขาดดุลกับคู่ค้าใหญ่อันดับแรกๆก่อน และปกป้องอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศ ได้แก่ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน 20% ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเม็กซิโกและแคนาดา 25% (เฉพาะสินค้าที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามสนธิสัญญาการค้า USMCA ร่วมกับสหรัฐฯ) รวมถึงการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม และสินค้ายานยนต์ 25% จากคู่ค้าทุกประเทศ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนจะขึ้นภาษีเฉพาะบางสินค้าเพิ่มเติม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ 25%, สินค้าเกษตร 25% และเวชภัณฑ์ 20%
ไทยโดนภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก เอเชีย และอาเซียน แต่ยังต่ำกว่าจีน
หากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีทั้งหมดตามที่ประกาศไว้ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับประเทศทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ขณะที่คู่ค้าเอเชียและอาเซียนโดนแรงกว่า ถ้าหากรวม Reciprocal tariffs, Universal tariffs และภาษีเฉพาะ (Specifics tariffs) ที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ต้นปีมานี้ จะพบว่า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าทั่วโลกเฉลี่ย 17% แต่เศรษฐกิจเอเชียและอาเซียนถูกเก็บภาษีเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 23% และ 33% ตามลำดับ สาเหตุหลักเพราะประเทศเอเชียส่วนใหญ่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะอาเซียน
สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทยในอัตรา 36% ติดอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้า และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย เพราะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูงกว่า นอกจากเรื่องนี้ สหรัฐฯ ยังระบุไว้ในรายงาน Foreign Trade Barriers 2025 ว่า ไทยตั้งกำแพงภาษีสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร (ไทยเก็บสหรัฐฯ 27%) นอกเหนือจากการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อีกทั้ง สหรัฐฯ ยังกล่าวถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ และสิทธิเสรีภาพของแรงงานในไทยด้วย
แม้สหรัฐฯ จะเปิดช่อง 90 วันให้ทุกประเทศเจรจาข้อเสนอแลกเปลี่ยนการลดภาษีตอบโต้นี้ได้ แต่อัตราภาษีที่สหรัฐฯ จัดเก็บจริงน่าจะสูงขึ้นกว่าเดิมมาก SCB EIC ประเมินว่าหากสหรัฐฯ บังคับใช้ภาษีตามที่ประกาศไว้ทั้งหมด อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tariff Rate : ETR) ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 20% อย่างไรก็ดี การขอเจรจาของประเทศต่าง ๆ อาจช่วยลดความรุนแรงของภาษีได้บ้าง แค่ในส่วน Reciprocal tariffs และ Specifics tariffs รายประเทศ แต่สำหรับ Universal tariffs และ Specifics tariffs รายสินค้า อาจเจรจาได้ยาก เพราะสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า ต้องการใช้เป็นอัตราภาษีขั้นต่ำส่วนเพิ่ม และปกป้องบางอุตสาหกรรมในประเทศ
เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลงในปีนี้ แม้ทรัมป์เลื่อนเวลาขึ้นภาษีตอบโต้ชั่วคราว การประกาศกำแพงภาษีที่สูงของสหรัฐฯ ได้สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าและการลงทุนทั่วโลกไปแล้ว
SCB EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตเหลือเพียง 2.2% (เทียบ 2.7% และ 2.8% ในปี 2024
และ 2023) และโลกมีความเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 35 - 50% ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) จากทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุน และความไม่แน่นอนทางนโยบายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนบางส่วนออกไป สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเติบโตต่ำลงมากเหลือเพียง 1.3% (ลดจาก 2.8% ปี 2024) ผลจากนโยบายกำแพงภาษีของตนเอง ซึ่งจะโตต่ำกว่าศักยภาพที่ 2% สำหรับจีนมีแนวโน้มขยายตัว 4.1% (ลดจาก 5% ปี 2024) ผลจากมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงและปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศ
ผลคาดการณ์นี้คำนึงถึงนโยบายการเงินการคลังที่ประเทศต่าง ๆ จะออกมาพยุงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วยแล้ว เช่น การเพิ่มงบกลาโหมของยุโรป การขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นในจีนและเยอรมนี การลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในสหรัฐฯ และยูโรโซน
ส่งออกไทยจะกระทบมาก เพราะพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 5 และโดนภาษีตอบโต้สูง
การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากคิดเป็นสัดส่วนของ GDP จะอยู่ที่ราว 10% ซึ่งค่อนข้างสูง เทียบประเทศเศรษฐกิจหลักและอาเซียน ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal rate สูงกว่าเช่นกัน (รูปที่ 4 ซ้าย) ไทยจึงได้รับผลกระทบสูง หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% จริง SCB EIC ประเมินว่า Nominal GDP ไทยอาจลดลงราว -3.3pp (ผลสะสมเฉลี่ยภายใน 3 ปี) ผ่านช่องทางการส่งออกสินค้าไทยที่ลดลง สาเหตุเพราะการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ มีบทบาทต่อ GDP ไทยสูง คิดในรูปของ Domestic Value Added (DVA) ต่อ GDP ไทยราว 7 – 8%
SCB EIC มองผลกระทบทางตรงผ่าน 2 ช่องทาง
Income Effect : สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าไทยและคู่ค้าอื่นๆน้อยลง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงมากจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเองครั้งนี้ รวมทั้งสินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ สูง กดดันให้ไทยเผชิญปัญหาการหาตลาดใหม่ จากแนวโน้มสินค้าล้นตลาดทั่วโลก Top-11 ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 84% ของมูลค่าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด และคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด นอกจากนี้ 7 จาก Top-11 ที่สัดส่วนมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อมูลค่าส่งออกสินค้านั้นทั้งหมดสูงกว่า 20% ข้อมูลนี้สะท้อนว่า สินค้าส่งออกไทยกระจุกตัวและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนประกอบ มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดสูงถึง 7.7% และเน้นส่งออกไปสหรัฐฯ สูง คิดเป็น 45.1% ของมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด
Substitution Effect : สหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ไทยสูง 36% แต่คู่แข่งโดนภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนใหญ่ 10%)
สหรัฐฯ อาจหันไปนําเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายถูกกว่าไทย หากประเมินจากกลุ่ม Top-11 สินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ พบว่า 9 ใน 11 สินค้าที่ไทยติด Top 5 ประเทศที่โดนอัตราภาษีสหรัฐฯ สูง (จาก Top-20 ประเทศส่งออกสินค้านั้นๆไปสหรัฐฯ) สะท้อนการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ Substitution Effect รุนแรงจากความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้สินค้ายานยนต์ และเหล็กอาจโดนผลกระทบจาก Substitution Effect จำกัด เพราะทุกประเทศโดนภาษีเฉพาะสินค้า 25% เท่ากัน
ส่งออกไทยนอกตลาดสหรัฐฯ อาจเจอการแข่งขันสูงขึ้น
นอกจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงเกือบ 20% แล้ว การส่งออกไปตลาดอื่นก็กระจุกตัวในประเทศที่โดนภาษีสหรัฐฯ สูงเช่นกัน SCB EIC พบว่า Top-15 ตลาดคู่ค้าของไทยรองจากสหรัฐฯ มีสัดส่วนรวม 73.4% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด โดย 12 จาก 15 ตลาดคู่ค้าไทยกลุ่มนี้ก็โดนกำแพงภาษีสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 16% อีกด้วย จึงมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้อาจชะลอตัวลง นำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกไทย ผ่านหลายช่องทาง
1) ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลง เช่น เศรษฐกิจจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) คาดว่าจะชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบนี้ ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยลดลงตาม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก (เช่น ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนในปี 2024 มากถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด)
2) ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก (โดยเฉพาะกลุ่ม Styrene และ Ethylene) และอะลูมิเนียมรีด (สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่ม) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนสูง อาจถูกกระทบหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง
3) การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ทำให้ต้องระบายสินค้าออกสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น
4) บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง
China Flooding จะยิ่งรุนแรง กระทบภาคการผลิตไทยต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าของจีนไปสหรัฐฯ จะยากขึ้นมากหลังมาตรการกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรงมากกับจีนกว่าประเทศอื่น และจีนยังมีการผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ (Overcapacity) จึงมีโอกาสที่สินค้าจีนจะถูกระบายเข้ามายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการทะลักเข้ามาตีตลาดของกลุ่มสินค้าขั้นกลางน้ำและปลายน้ำจากจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เหล็ก กระดาษ และเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของการผลิตสินค้าของไทย สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนขยายตัวในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าของจีนในไทยมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะส่งไปขายยังสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มดำเนินนโยบายในเชิงกีดกันสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพึ่งพาสินค้ากลุ่มกลางน้ำที่เป็นวัตถุดิบจากจีนมากขึ้นกว่าเดิม
SCB EIC มองว่าการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนจะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของนโยบายของ Trump 2.0 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังคงมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการบริโภคสินค้าที่ยังอ่อนแอ ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเหลือ 1.5% ภาษีทรัมป์จะกระทบส่งออกและลงทุนเป็นหลัก
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวเหลือ 1.5%YOY จากการประกาศขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด (เดิม 2.4%YOY) โดย SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะแผ่วลงอย่างมาก จากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปมาเช่นนี้ จะมีผลให้ธุรกิจชะลอการลงทุนทันที เพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง
ในการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลงครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนเอกชนที่ปรับแย่ลง มูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมทองคำ) คาดว่าจะหดตัว -0.7%YOY (เดิม 1.6%YOY) โดยจะมีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 จากผลของภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี มูลค่าส่งออกไทยทั้งปีอาจดูหดตัวไม่มาก แม้ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ สาเหตุหลักเพราะ (1) มูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ออกมาแล้ว เติบโตดีเกือบ 14%YOY และ (2) มูลค่าการส่งออกทองขยายตัวสูงตามราคาทองคำ การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะยังไม่ฟื้นในปีนี้ มองขยายตัวเพียง 0.3%YOY (เดิม 2.9%YOY) จากที่หดตัวในปีก่อน ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นมาก ธุรกิจต่างชาติอาจต้องรอดูท่าทีรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ออาเซียนและไทย รวมถึงผลการเจรจาของรัฐบาลไทย
ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ที่เคยมองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่การลงทุนจากธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการลงทุนในยานพาหนะเชิงพาณิชย์จะยังคงซบเซา ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนไทยฟื้นตัวไม่ได้ในปีนี้ องค์ประกอบอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการภาษีสหรัฐฯเช่นกัน การท่องเที่ยว ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลง 1.5 ล้านคนเหลือ 36.7 ล้านคน ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้อุปสงค์การท่องเที่ยวไทยลดลงตาม
การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวเหลือ 2.2%YOY (เดิม 2.6%YOY) ตามการปรับลดลงของรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง ภาพการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะยังขยายตัวได้ระดับหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ที่จะยังมีต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดจะขยายตัวเหลือ 0.9%YOY แม้อุปสงค์ในประเทศจะปรับลดลง แต่มองว่าการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าบริโภคอาจรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับความสำเร็จและระยะเวลาในการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทยเป็นหลัก
SCB EIC มอง กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 หากเจรจาไม่สำเร็จ
นโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดมาก จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัย นโยบายการเงินจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนได้
SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง เหลือ 1.25% ณ สิ้นปี 2025 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2018 – 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
รัฐบาลควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เริ่มจาก 3 ประเด็นหลักตามรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศควบคู่กันไป
ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือนมีนาคม 2025 ได้แก่
1) ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ
2) ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร
3) แก้ไขปัญหาอื่นๆที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล นอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศควบคู่กัน โดยมีกลไกดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุน และการสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข้มแข็งบ