หมายเหตุ : “ดร.มานะ นิมิตรมงคล” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ต่อกรณีที่ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม มูลค่าก่อสร้างกว่า 2 พันล้านบาท จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และยังคงสูญหาย ที่ผ่านมา
มีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย รวมถึงรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุว่ามาจากปัญหาการก่อสร้าง ตั้งแต่ต้นหรือไม่ พร้อมกันนี้ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตต่อภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อผลในระยะยาว รายการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2568
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังรอการตรวจสอบจากคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น แต่ปรากฎว่าในระหว่างนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ จากข้อมูลที่ถูกเปิดเผยผ่านสื่อถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการสร้างตึกแห่งนี้ จนทำให้ความเชื่อมั่นพังไปพร้อมกับตึกด้วยหรือไม่
ในเรื่องของความเชื่อมั่น ผมมองว่ามันไม่ได้พังเฉพาะที่สตง.เท่านั้น แต่คนกำลังพูดถึงองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญแทบทุกองค์กรที่ก่อนหน้านี้ก็เป็นจำเลยอยู่แล้ว สำหรับสตง. คือภาพขององค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ซึ่งการที่ใครจะไปตรวจสอบคนอื่น ตัวเองก็ต้องเป็นที่ยอมรับด้วยเหมือนว่าตัวเองขาวสะอาดพอ ซึ่งการพูดเช่นนี้ เราไม่ได้บอกว่าสตง.มีอะไรที่ทุจริต แต่มันกำลังเกิดความสงสัยอย่างมากในสังคม
อีกอย่างหนึ่งที่อยากให้ตระหนักกัน คือคนที่สงสัยและไม่มั่นใจเลย ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วตามด้วยอาการแพนิคของข้าราชการหลังจากแผ่นดินไหว ไปแล้ว มีข้าราชการในหลายตึก ต่างอพยพลงมาจากตึกที่ทำงาน ส่วนหนึ่งเพราะข้าราชการต่างรู้ดีว่าตึกของหน่วยงานราชการหลายแห่งเต็มไปด้วยการโกงกินแทบทุกที่ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มั่นใจในตัวตึก ที่ทำงานกันอยู่แล้วต่างชาติทั้งที่อยู่ในประเทศไทย นักท่องเที่ยว หรือคนที่ทำมาหากิน หรือคนที่กำลังจะมาลงทุนในไทย หรือลงทุนไปแล้ว จะมองประเทศไทยอย่างไร
ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดเรื่องแคดเมียม หรือการรักษาตัวของอดีตนายกฯ เรื่องชั้น 14 ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว เรื่อง รูล ออฟ ลอว์ เรื่องหลักนิติธรรม การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมของไทย เชื่อถือไม่ได้ อ่อนแอมาก จำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูกันอย่างเร่งด่วน เรื่องความปลอดภัยของประชาชนจากสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่นโยบายสาธารณะของรัฐ ต่างชาติไม่ไว้วางใจมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ และเมื่อมาถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกคนคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แล้วมันมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นรื่องที่เราต้องตระหนัก แล้วต้องรีบสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา
- ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุตึกสตง.ถล่ม มีทั้งเม็ดเงินงบประมาณจำนวนถึง 2พันล้านบาท และที่สำคัญคือชีวิตของผู้สูญหาย ซึ่งเป็นแรงงานทั้งไทยต่างด้าว สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้หลายคนมองว่าสังคมไทยตื่นแล้วกับเรื่องการทุจริต แต่ภาครัฐ เองตื่นแล้วหรือยัง
เรื่องนี้เป็นคำถามที่เราต้องถามกันอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเราต้องการให้มีผู้รอดชีวิต จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ให้มากที่สุด ประเด็นต่อมาที่มีการพูดถึงกันมากที่สุด คือเหตุการณ์ครั้งนี้ที่ตึกสตง.ถล่มเพราะอะไร เป็นเพราะการออกแบบไม่ดี การคำนวณโครงสร้างไม่ดี มีการทุจริตในโครงการนี้หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรายังไม่เห็นข้อมูล เรื่องนี้กำลังรอการพิสูจน์ต่อไป ส่วนประเด็นที่น่าสนใจคือวันนี้มีหน่วยงานของรัฐจำนวนมาก ที่เข้าไปพยายามหาหลักฐาน พยายามพิสูจน์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้
แต่ประเด็นที่สาม ซึ่งมองว่ามีความสำคัญอย่างมาก นั่นคืออุบัติภัยในประเทศไทย ทั้งบนท้องถนน ตึกพัง สะพานพัง อย่างกรณีเมื่อ 2ปีที่แล้ว การก่อสร้างสะพานลอยแถวลาดกระบังที่พังลงมา จนมีคนเสียชีวิต แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มี ใครบอกเราได้เลยว่ามันเกิดจากอะไร ยังไม่มีใครแถลงให้ประชาชนฟังเลยว่าพังเพราะอะไร ใครผิดก็ไม่กล้าพูด แต่มันพังเพราะอะไร แล้วจะหาทางป้องกันอย่างไร เรื่องนี้สำคัญมาก เราอยากรู้
หรืออย่างกรณีการก่อสร้างทางด่วนพระราม 2 มันถล่มเพราะอะไร ยังไม่มีการบอกกันเลย เจ้าหน้าที่รัฐ ใครต้องรับผิดชอบ เอกชนใครต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นกรณีตึกสตง.ถล่ม เมื่อมีการสอบสวนแล้ว ภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องบอกกับคนไทยว่าเราได้บทเรียนอะไร และจากนี้เป็นต้นไป รัฐจะทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ความปลอดภัยบนท้องถนน ชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัยในตึก รัฐจะป้องกันอย่างไร
“เรื่องที่เราเจ็บใจกันมากที่สุดคือระบบการแจ้งเตือนภัยที่เราเสียเงินไปตั้งกี่ร้อยล้านบาท แต่พอถึงเวลามีอุบัติภัยจริงๆ ระบบนี้สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ และหากนับจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อหลายสิบปีก่อน ระบบแจ้งเตือนของเรายังใช้ได้อยู่หรือไม่
การที่ระบบแจ้งเตือนภัยล้มเหลว เป็นเรื่องที่น่าละอาย ที่ กสทช.และ ปภ.หรือใครก็แล้วแต่ ซึ่งรัฐบาลต้องเกี่ยวข้อง จะมาบอกว่าเพิ่งมาเป็นรัฐบาล มันไม่ได้
แต่จากนี้ต้องบอกได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ดังนั้นเราต้องคุยเรื่องนี้กันให้จริงจัง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นทั้งคนไทย และต่างชาติได้เลย”
-ปัญหาที่เกิดขึ้น กำลังทำให้หลายคนมองว่าส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการไทยเอง ที่ยังอ่อนแออยู่ และในขณะเดียวกันยังจะกลายเป็นการเปิดช่อง ให้มีการทุจริตคอร์รัปชันได้อีก
การที่บริษัทต่างชาติ ทำธุรกิจในบ้านเรา มีทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน อิตาลี เยอรมนี หลายสิบปีมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เป็นเพราะว่าไทยต้องการเงินทุนจากต่างชาติ หรือต้องการเทคโนโลยีในการผลิตจากต่างชาติ รวมถึงเรายังต้องการประสบการณ์ในการทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี รวมถึงการที่มีบริษัทจากประเทศจีนเข้ามาก็เป็นเรื่องดี แต่ทุกคนที่เข้ามารัฐจะต้องควบคุม เพื่อให้ประเทศต่างๆปฏิบัติตามกฎ กติกาของประเทศไทย ตรงนี้จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
ส่วนกรณที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาจอยต์ เวนเจอร์ กับบริษัทของไทย สาเหตุมาจากการที่หากจะรับงานจากส่วนราชการ เขาจะต้องฝ่าด่านกฎ กติกาภาครัฐให้ได้ ซึ่งคนที่จะมารับงานภาครัฐเรื่องการก่อสร้างเลย อันดับแรก คุณจะต้องไปขึ้นบัญชี ผู้รับเหมาให้ได้ ต่อมาเมื่อจะรับงานขนาดใหญ่ ก็จะต้องมีผลงาน ดังนั้นจึงมีเทคนิคหนึ่งบริษัทต่างชาตินิยมทำกันคือการมาหุ้นกับบริษัทคนไทย หรือมาเทกโอเวอร์ หรือมาจอยต์เวนเจอร์ ตรงนี้เรากำลังตั้งคำถามว่า เป็นการนจอยต์เวนเจอร์จริง หรือเป็นนอมินี หรือมีการถือหุ้นจริง หรือเป็นแค่การจ้างเหมาช่วง
จากนี้ไปเราจะได้เห็นว่าเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ,ปปง, กรมพัฒนาธุรกิจหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ออกมาให้ได้ ต้องการพูดเพื่อให้คนไทยได้รู้เห็นล่วงหน้า ได้รู้เท่าทัน ในส่วนของภาคราชการ เชื่อว่ารู้อยู่แล้ว ซึ่งต้องพิสูจน์ ส่วนเราคนไทยต้องรู้ทันและตามต่อไปว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังมีมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ สุดท้ายจะเกรงใจใครหรือไม่ และหากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย ถ้าไปสมรู้ร่วมคิดกับบริษัทต่างชาติจริงก็ต้องโดนด้วย
-ต่อไปรูปแบบการประมูลงานของภาครัฐ ควรจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อให้ป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย
โดยส่วนตัวแล้วสนับสนุนในเรื่องนี้ ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง กำลังอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าจะแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ด้วยกันหลายอย่าง คือ 1. จากเดิมที่เคยกำหนดในการประมูลว่าราชการต้องเลือกบริษัทที่เสนอราคาต่ำที่สุด ต่อไปเราต้องนำเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติบริษัทผู้รับเหมาว่าใครมีศักยภาพที่จะทำงานให้ได้จริง ให้ได้งานออกมาได้ดี สมเป้าหมาย สมความต้องการของหน่วยงานจริง ต้องทั้งเรื่องคุณภาพต้องควบคู่ไปกับราคา
นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่แก้ด้วยกฎหมายไม่ได้ แต่ต้องไปแก้ที่ดุลยพินิจและพฤติกรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจ เนื่องจากมีการล็อกสเปก กีดกัน กันอยู่ ดังนั้นการที่เราพูดถึงบริษัทต่างชาติ ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในไทยได้ เพราะคนไทยเรากันเอง ในหน่วยงานต่างๆไปเขียนสเปก กันบริษัทต่างชาติเอาไว้
เพราะฉะนั้นต้องทำสองทาง คือ 1.เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำ ให้แข่งขันกับบริษัทของไทยอย่างเสรี เอาเป้าหมายของหน่วยงานเป็นสำคัญ และต้องไม่มีการล็อคสเป็ก กีดกันบริษัทใดๆ เพื่อให้การแข่งขันการประมูลงานภาครัฐมีความเป็นเสรีและเป็นธรรม
-วันนี้ต้องยอมรับว่าความเชื่อมั่นของสตง.ถูกสั่นคลอนอย่างหนัก ดังนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของสตง.ในวันข้างหน้าด้วยหรือไม่ เพราะคนที่ถูกตรวจสอบก็จะตั้งคำถามกลับเช่นกัน
เรื่องการทำหน้าที่ของสตง. ต้องแยกออกเป็นสองประเด็น คือ สำหรับกรณีตึกสตง.ที่พังถล่มนั้น ต้องยอมรับว่าสตง.เก่งในเรื่องการตรวจสอบเอกสาร ตรวจบัญชี การเงิน แต่ไม่เก่งเรื่องการตรวจตึก ตรวจการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นการที่ผู้บริหารสตง.มีเจตนาดี คือการนำเอาข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ เพื่อให้ตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปร่วมสอดส่องเฝ้าระวัง ถือว่าเป็นการริเริ่มที่ดี ที่ต้องส่งเสริม
แต่สำหรับการที่ตึกสตง.แห่งใหม่ถล่ม นั้นวันนี้ยังพูดได้ยากว่า มีใครเอารัดเอาเปรียบประชาชน และหลวงบ้าง ต้องให้เวลาในการพิสูจน์ แต่ในส่วนที่สตง.เข้าไปตรวจสอบ หน่วยงานและส่วนราชการต่างๆ ที่เป็นข่าวนั้น ต้องบอกว่าทุกอย่างเป็นเรื่องจริงหมด ซึ่งก็น่าเห็นใจคนที่โดนตรวจสอบ
แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องฉุกคิดเอาไว้สักนิด คือสตง.เองต้องปรับปรุงว่ามาตรฐานการตรวจสอบเป็นอย่างไร การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไร คุณมีเกณฑ์ กติกาอะไร จึงไปวัดว่า เมล็ดพริกของบางหน่วยงานที่ไปตรวจสอบนั้นยาวเท่าไหร่ หรือมีการไปเรียกเก็บเงินคืน 50 บาท 100 บาท หรือดูแม้กระทั่งหลักสตางค์ จนทำให้เกิดคำถามว่านี่คือหลักในการตรวจสอบของสตง.หรือไม่ สตง.ต้องไปปรับปรุง
ในส่วนของกฎระเบียบของหน่วยงานต่างๆที่สตง.ต้องไปตรวจสอบ อย่างอบต.หรือการปกครองส่วนท้องถิ่น อะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ จุดนี้สตง.ต้องมีความชัดเจนและหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ในการใช้อำนาจ และดุลยพินิจ ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนรวมจริง ๆ ไม่ใช่ เป็นไปในลักษณะของการจับผิดกัน
-อยากให้ฝากถึงสังคมไทย
ทุกการโกง มันคือการปล้นชาติ และยังทำให้คนในประเทศเดือดร้อน บางทีเราอาจจะไม่เห็นว่ามีการเสียโอกาสในอนาคต สิ่งเหล่านี้ที่ผ่านมาเราเห็นกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สะพานถล่ม หรือทางด่วนถล่ม และการที่ตึกสตง.พังถล่มครั้งนี้มันทำลายประเทศชาติ อย่างมาก มีการเสียชีวิต ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเงินงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 2พันล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นหากปกป้องได้ ป้องกันได้ เราต้องช่วยกัน จากนี้ไปอะไรที่ไม่ถูกต้อง เราต้องช่วยกันพูด ช่วยกันส่งเสียง อย่างน้อยที่สุดเราเปิดเฟซบุก หรือไลน์ของเรา ติดแฮชแท็กไปเลย #เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ทุกเรื่องที่ไม่ปกติ ขอให้ช่วยกันจับตา อย่ายอม