แม้ว่า สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีทีท่าจะถอย และลดความแรงในเรื่องมาตรการภาษีตอบโต้  ด้วยการชะลอออกไป 90 วัน เพราะทำให้เกิดแรงกดดัน จากทั่วโลก และจากในสหรัฐฯเอง ที่เกิดการประท้วงมากมาย ก็ตาม

แต่ในภาพรวม รัฐบาลไทย ในยุค นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็ต้องเตรียมพร้อมในการเจรจาต่อรอง โดยการตั้งคณะทำงานในนามรัฐบาลไทย ขึ้นมา โดยมี นาย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและ รมว.คลัง เป็นหัวหน้าทีม โดยแนวทางของรัฐบาลไทย จะใช้ไม้นวม มากกว่า ตอบโต้  เตรียมเจรจาต่อรอง 

ในส่วนของกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ได้รับสัญญาณจากรัฐบาล ให้เตรียมทำช้อปปิง ลิสต์ ว่า แต่ละเหล่าทัพ มีแผนจะจัดซื้อ อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือ เทคโนโลยี ใด จากสหรัฐฯบ้าง เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ เป็นข้อเสนอในการเจรจาต่อรองกับทางสหรัฐฯ

โดยกองทัพได้มีการเตรียมข้อมูลตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาไว้แล้วเช่น ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทย ที่มีแผนจะจัดวางระบบCyber Security ใหม่ ของหน่วยบัญชาการไซเบอร์ทหาร ที่มีการปรับโครงสร้างและขยายหน่วย ขึ้นมาใหม่ ที่จะใช้ระบบใหญ่ ของสหรัฐอเมริกา ทั้งหมด รวมถึงระบบงานแผนที่ ที่เรียกว่าGeoInt.

ขณะที่กองทัพบก มีแผนที่จะจัดซื้อรถเกราะ Stryker เพิ่มขึ้นอีก 1 กรม ให้กับกรมทหารราบที่ 111 (ร.111) กองพลทหารราบที่ 11  (พล.ร.11) หรือ กองพลสไตรเกอร์ จากเดิมที่มีแล้ว1 กรม คือ ร. 112

โดยต้องจัดซื้อผ่านโครงการความช่วยเหลือทางทหาร ( FMS ) ซึ่งมีรายงานข่าวว่าทางตัวแทนของกองทัพได้มีการหารือกับทางสหรัฐแล้ว ก่อนหน้านี้ 

ขณะที่ กองทัพเรือได้รับการอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการจัดซื้อเรือฟริเกตใหม่แค่หนึ่งลำจากที่เสนอไปสองลำในงบประมาณปี 2569  จะสามารถกันเงินงบประมาณไปผูกพันในโครงการจัดซื้อเครื่องบินโจมตีของกองทัพเรือ เนื่องจากปัจจุบันกองทัพเรือ มีแต่เครื่องบินลาดตระเวนดอร์เนีย ที่ซื้อจากเยอรมนีเข้าประจำการ มากกว่า 30 ปี โดยทางสหรัฐฯ ได้อัพเกรดให้ใหม่ แล้วก็ตาม

โดยมีกระแสข่าวว่า มีการเสนอให้ทางกองทัพเรือ พิจารณาจัดซื้อเครื่องบินโจมตี AT6 Textron จากสหรัฐอเมริกาซึ่งกองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อมาประจำการที่กองบิน41 เชียงใหม่แล้ว  แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องบินที่ไม่เหมาะกับภารกิจของกองทัพเรือรวมถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่ากองทัพเรือไม่จำเป็นต้องมีเครื่องบินโจมตี เป็นของตัวเอง เพราะปัจจุบันกองทัพใช้ระบบการรบร่วม 3 เหล่าทัพ ภารกิจในการบินโจมตีเป็นหน้าที่ของเครื่องบินกองทัพอากาศ

ขณะที่กองทัพอากาศ ถูกจับตามองมากที่สุดเนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าสหรัฐอเมริกา พยายามหลายครั้งและหลายทิศทางในการให้จัดซื้อเครื่องบิน F16  block 70  เมื่อมีปัญหาจากเรื่องกำแพงภาษีจึงจับตามองว่าสหรัฐจะกดดันให้กองทัพอากาศไทยจัดซื้อ F16 หรือไม่

เพราะแม้ว่าคณะกรรมการของกองทัพอากาศจะมีมติเลือกซื้อเครื่องบิน Gripen จากSAAB สวีเดน มานานหลายเดือนแล้วก็ตาม

แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และยังไม่ได้เซ็นสัญญา เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารโครงการตอบแทนทางเศรษฐกิจ Offset Policy

จึงทำให้บรรดาแฟนคลับ Gripen หายใจไม่ทั่วท้อง ขณะที่บรรดา FC ของ F16 ก็ดูมีความหวังขึ้นมาทันใด

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้กระทบกับกองทัพอากาศ เพราะบิ๊กไก่ พลอากาศเอกพันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ได้มีการหารือกับทางรัฐบาล ไปก่อนหน้านี้แล้วว่ากองทัพอากาศมีโครงการอื่นที่จะเสนอให้สหรัฐฯ เช่นโครงการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง มาเป็นเครื่องบินลำเลียงทดแทนเครื่องบินบุคคลสำคัญ ในงบประมาณปี 2569

และรวมทั้งการจัดซื้อเครื่องบินในตระกูล F ของสหรัฐอเมริกาเพื่อมาทดแทนเครื่องบิน F  16 ของกองบิน4 นครสวรรค์ ที่จะปลดประจำการ ในอีกราว 5  ถึง 10 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะต้องมีการเตรียมโครงการและพิจารณาคัดเลือกแบบก่อนปี 2570 นี้ ซึ่งถือเป็นการให้ความหวังกับทางสหรัฐอเมริกา เพื่อลดแรงกดดันที่สหรัฐฯ ต้องการให้กองทัพอากาศซื้อเครื่องบินF  16 เพื่อทดแทนเครื่องบินF  16 ของกองบิน1 นครราชสีมา

โดยมีรายงานว่ากองทัพอากาศ วางไทม์ไลน์ที่จะมีการเซ็นสัญญากับทางสวีเดนราวเดือนกรกฎาคม 2568 นี้โดยมีรายงานว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสวีเดนในช่วงนั้นพอดีและอาจจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามระหว่างกองทัพอากาศกับ SAAB สวีเดน เพราะเป็นสัญญาแรกของกองทัพที่มีการใช้นโยบาย Offset policy อย่างเต็มรูปแบบโครงการแรก

อีกทั้งนางสาวแพทองธาร มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเอกอัครราชทูตหญิง ของ สวีเดนประจำประเทศไทยอีกด้วย

สิ่งนี้จึงเป็นอีกหลักประกันหนึ่ง ที่คาดการณ์ได้ว่ารัฐบาลและนายกฯแพทองธาร จะไม่กดดัน หรือมีใบสั่งให้กองทัพอากาศ เปลี่ยนจากการจัดซื้อเครื่องบินGripen สวีเดนมาเป็นF  16 ของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน

อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลนางสาวแพทองทาและกองทัพอากาศโดยเฉพาะ พลอากาศเอกพันธ์ภักดี  ก็เป็นไปด้วยดีและกว่าที่กองทัพอากาศจะเคลียร์ทางจนประกาศเลือกเครื่องบิน Gripen สวีเดนได้ผ่านการพูดคุยทำความเข้าใจกับทั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน  และ นายสุทิน คลังแสง  รมว.กลาโหม  จนมาถึงยุคนี้  นางสาวแพทองธาร และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหมแล้ว รวมถึงผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้มีความเข้าใจและไฟเขียวแล้ว ยากที่ รัฐบาลจะสั่งให้เปลี่ยนตัวเลือกในการจัดซื้อเครื่องบิน Gripen มาเป็น F16 V

อีกทั้งยังเป็นช่วงที่รัฐบาล แพทองธาร ก็ต้องการการสนับสนุนจากกองทัพ จะไม่ทำอะไรที่เป็นการแทรกแซงหรือล้วงลูกกองทัพ ในเรื่องอาวุธยุทธโธปกรณ์