ปัญหาขยะถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ท้องถิ่นทั่วประเทศประสบปัญหา โดยเฉพาะท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ต้องรับภาระในการเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมขยะจากหน่วยงานอื่นๆรอบข้าง มากำจัด ซี่งจุดรวบรวม หรือแหล่งที่ใช้ฝังกลบขยะนับวันจะยิ่งมีปัญหา เพราะปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน และกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ในทุกพื้นที่

ที่ห้องประชุมกาญจนาภิเษก เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา  นายกัมปนาท บุตรโต รองปลัด ทน.นครราชสีมา จัดประชุมแนวทางบริหารจัดการขยะ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่นำขยะมูลฝอยมากำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ทน.นครราชสีมา ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งในพื้นที่ อ.เมือง บางแห่งใน อ.โนนสูง อ.ขามทะเลสอ อ.จักราช อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โชคชัย และ อ.หนองบุญมาก รวมทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนรวม 42 แห่ง โดยคิดค่ากำจัดตันละ 400 บาท เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการและเป็นห้วงเวลาที่เทศบาล 19 แห่ง ยังไม่มีผู้บริหารมีเพียงปลัดรักษาการตำแหน่งนายกเทศมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งเดิมที่ครบวาระ จึงมีการฉุกละหุก ผู้แทนที่มาร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ไม่มีอำนาจ หน้าที่การดำเนินการ

นายกัมปนาท รองปลัด ทน.นครราชสีมา ชี้แจงสถานการณ์ศูนย์กำจัดขยะมูลซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 2 แต่ละวันกำจัดขยะมูลฝอยเฉลี่ย 450 ตัน แบ่งเป็นขยะในเขตเทศบาล 200 ตันและนอกเขต 250 ตัน แต่ระบบรองรับได้ 250 ตัน ขยะส่วนเกินและขยะคัดทิ้งจากระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และกระแสไฟฟ้าส่งไปกำจัดที่บ่อฝังกลบชั่วคราวขนาดพื้นที่ 50 ไร่ ล่าสุดมีปริมาณขยะสะสม 334,863 ตัน การตรวจติดตามความก้าวหน้าของคณะกรรมการกองทัพภาคที่ 2 ระบุต้องรักษาระดับสะสมของปริมาณขยะไม่เกิน 2 แสนตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลง นับวันมีแต่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่จากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และน้ำเสียจากขยะและยังไม่มีแผนแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน กองทัพภาคที่ 2 พิจารณาแล้ว ให้งดนำขยะมูลฝอยมาทิ้งในบ่อฝังกลบชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. นี้ และต้องขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ ดังนั้นจึงแจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน ศูนย์ ฯ จะไม่รับกำจัดขยะ จึงให้หน่วยงานที่นำขยะมากำจัดใช้หลัก 3r เพื่อบรรเทาปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งเป็นการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บรรยากาศอื้ออึงทันที เมื่อเปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานแสดงความคิดเห็นและสอบถามข้อสงสัยทั้งหมดอ้างไม่มีที่ทิ้งขยะ พยายามร้องขอให้ช่วยหาทางออก หากไม่เก็บขนขยะเพียงวันเดียว มีทัวร์ลงแน่นอน

ทั้งนี้การดำเนินโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ 2 มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ได้ล่าช้ากว่า 10 ปี ความคืบหน้ารอคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีการยื่นฟ้องคดี กรณีให้เพิกถอนการประกวดราคากล่าวหากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยเมื่อที่ 8 เมษายน ที่บริเวณทางเข้าศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่ 2 พร้อมพนักงานศูนย์ ฯ ได้ติดตั้งป้ายไวนิล ข้อความ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้งดเว้นการนำขยะมาทิ้งในพื้นที่ C บ่อฝังกลบขยะมูลฝอยชั่วคราว 50 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 เป็นต้นไป” ขณะเดียวกันบุคลากรของเทศบาลได้ตระเวนนำส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ กห 0482/1435 ซึ่งเป็นเอกสารราชการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับหน่วยงานที่นำขยะมาทิ้ง ระบุ บันทึกข้อตกลงการใช้พื้นที่ครอบครอง เพื่อจัดทำโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอย ระหว่าง ทน.นครราชสีมา กับกองทัพภาคที่ 2 จากการตรวจติดตามความก้าวหน้าของคณะกรรมการกองทัพภาคที่ 2 พบปริมาณขยะสะสมในพื้นที่ C กว่า 334,863 ตัน โดย ทน.นครราชสีมา มิได้ดำเนินการตามข้อตกลง ซึ่งต้องรักษาระดับสะสมขยะไม่เกิน 2 แสนตัน และความสูงต่ำกว่าขอบบ่อ 2.50 เมตร ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568 นับวันมีแต่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่จากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และน้ำเสียจากขยะและยังไม่มีแผนแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน กองทัพภาคที่ 2 พิจารณาให้งดนำขยะมูลฝอยมาทิ้งและต้องขนย้ายขยะออกจากพื้นที่ให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง ฯ

นายกัมปนาท  บุตรโต รองปลัด ทน.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานะทุกวัน ทน.นครราชสีมา พร้อม อปท.พื้นที่ อ.เมือง บางแห่ง อ.โนนสูง อ.ขามทะเลสอ อ.จักราช อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.โชคชัย และ อ.หนองบุญมาก รวมทั้งหน่วยราชการและเอกชนรวม 42 แห่ง ขนย้ายขยะมูลฝอยรวม 450 ตัน มากำจัด โดยมีค่าดำเนินการตันละ 400 บาท แบ่งเป็นขยะในเขตเทศบาล 200 ตันและนอกเขต 250 ตัน ระบบรองรับได้ 200 ตัน ขยะส่วนเกินและขยะคัดทิ้งจากระบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์และกระแสไฟฟ้าส่งไปฝังกลบพื้นที่ C แต่ปริมาณขยะสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ฝังกลบไม่ทันต้องเทกองกลางแจ้ง แม้น ทน.นครราชสีมา เน้นกำชับให้หน่วยงานใช้หลัก 3r บรรเทาปัญหาขยะล้นเมือง ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถลดปริมาณขยะได้มากนัก จึงเกิดปัญหาและไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลง กองทัพภาคที่ 2 จึงมีคำสั่งงดให้นำขยะมาทิ้ง 

ด้านนายจำลอง  มหิงษาเดช ผู้ใหญ่บ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ 9 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง ในฐานะผู้นำชุมชนอยู่ในละแวกศูนย์กำจัดขยะ ฯ กล่าวไทม์ไลน์ว่า ก่อนหน้านี้สภาพแวดล้อมดีมาก ทุกปีจัดกิจกรรมจับปลาน้ำในสระน้ำหนองปลิง มีรายได้เข้าชุมชนหลักแสนบาท ปี 2539 ทน.นครราชสีมา เปิดบ่อฝังกลบขยะ 7 บ่อ ตนสอบถามอ้างดำเนินการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ก็จะย้าย แต่มิได้ทำตาม มิหนำซ้ำขนขยะมากำจัดเพิ่มขึ้น ทั้งของเทศบาลและ อปท.หลาย 10 แห่ง ส่งผลสระน้ำหนองปลิงน้ำเน่าเสีย เป็นเวลากว่า 10 ปี แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขเยียวยา แต่ปัญหาที่เกิดจากศูนย์กำจัดขยะ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเจริญเติบโตของเมือง อัตราการสร้างขยะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงจัดกิจกรรมหรือเทศกาลสำคัญต่างๆ ขยะทั้งหมดถูกขนมาทิ้งไว้ที่บ่อขยะแห่งนี้ ด้วยปริมาณขยะเพิ่มขึ้นได้สร้างปัญหาทั้งน้ำเสียและกลิ่นเหม็นแสบจมูก หากฝนตกหนักจะมีน้ำจากกองขยะไหลลงสระน้ำธรรมชาติ ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำตายและช่วงฤดูหนาว กระแสลมพัดกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจาย ขณะนี้ลูกบ้านหลายรายล้มป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านหนองปลิง หมู่ 3 บ้านหนองโสมง หมู่ 6 และบ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ 9 ต.หนองบัวศาลา กว่า 1 พันครัวเรือน

ทั้งนี้ บรรยากาศหลังกองทัพภาคที่ 2 มีคำสั่งดังกล่าว ในพื้นที่ได้เกิดปัญหาปั่นป่วน กรณี อปท.ไม่มีที่ทิ้งขยะได้นัดรวมตัวร้องขอให้ผู้มีอำนาจช่วยหาทางออก เพื่อบรรเทาปัญหาชั่วคราว หากไม่เก็บขนขยะเพียงวันเดียว มีปัญหามวลชนแน่ ส่วนการดำเนินโครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ 2 มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ล่าช้ากว่า 10 ปี ความคืบหน้ารอคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากมีการยื่นฟ้องคดี กรณีให้เพิกถอนการประกวดราคากล่าวหากระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย