เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลกระทบต่อความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ที่ครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุด!!!
ที่สำคัญความสูญเสียครั้งนี้ ไม่มีแจ้งเตือนล่วงหน้า!!!
ซึ่งทำให้ “นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร” ต้องเรียกประชุมปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้งเครือข่าย เอไอเอส ทรู และ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT หาทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจากการรายงานพบว่า ระบบ Cell Broadcast หรือวิธีการส่งข้อความสั้น ๆ พร้อมกันไปยังผู้ใช้โทรศัพท์ จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ในระหว่างนี้หากมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีก ได้มอบหมายให้เรียงลำดับงาน แบ่งเป็นช่วงเวลาเพื่อที่จะได้ดำเนินงานได้ชัดเจน ดังนี้
- เปลี่ยนแปลงระบบ SOP (Standard Operating Procedure) ให้สามารถส่งข้อความได้เลยทันทีที่ได้รับข้อมูลจากกรมอุตุฯ โดยที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่จำเป็นต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อความซึ่งใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง และข้อความที่ส่งจะต้องเป็นข้อความที่กระชับ ถูกต้อง และเข้าใจง่าย
- ในระหว่างที่ Cell Broadcast ยังไม่สมบูรณ์ ให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast (CBE) เฉพาะระบบ Android จำนวน 70 ล้านเลขหมายไปก่อน โดยที่ ปภ. ส่งตรงไปที่ Operator เพื่อแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนได้เลย
- ส่วนในระบบ iOS จำนวน 50 ล้านเลขหมาย ให้ใช้การส่ง SMS แทน โดยที่ให้ทาง ปภ. ส่งตรงไปที่ Operator เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน
- ทาง DE และ กสทช. จะเร่งเจรจากับทาง Apple เพื่อเร่งให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ได้ชั่วคราว
ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เพื่อให้ปลดล็อกระบบสนับสนุนการใช้งาน Cell Broadcast ล่าสุด Apple ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจะดำเนินการเสร็จภายใน 5 วัน และ สามารถดำเนินการส่ง SMS ภายใน 2 สัปดาห์ โดย Cell Broadcast ส่งข้อความได้ในเทคโนโลยีระบบ 4 จี และ 5 จี ส่งข้อความ 30 ล้านครั้งต่อชั่วโมง ส่วน SMS ระบบ 2 จี และ 3 จี ปัจจุบัน AIS มีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านเลขหมาย และ TRUE มีอยู่ 1 ล้านเลขหมายส่งได้ครั้งละ 3 ล้านครั้งต่อชั่วโมง
เช่นเดียวกับ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีปภ.กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัย กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ในการเซตกระบวนการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ โดยในระหว่างที่รอการพัฒนาระบบ Cell Broadcast ให้ครบสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ปภ. และผู้ให้บริการเครือข่ายได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนในกระบวนการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และ Virtual Cell Broadcast ทั้งกรณีแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่น ๆ
เป็นการเริ่มต้นที่จะทำในสิ่งที่ควรทำ!!!
ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการที่ความเห็นเกี่ยวกับการสื่อสารเพื่อเตือนภัย ซึ่งประเทศไทยระบบแจ้งเตือนภัย หรือ Cell Broadcast Service ยังไม่แล้วเสร็จ นั้น ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่า ระบบจะทำหน้าที่ส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่เปิด และมีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นของผู้ให้บริการรายใดก็ตาม จะมีข้อความปรากฏขึ้นหน้าจอ แม้จะไม่ได้เปิดหน้าจอก็จะขึ้นแสดงข้อความที่หน้าจอได้ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวเป็นระบบแจ้งเตือนที่หลายประเทศใช้งานในการแจ้งเตือน กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ภาครัฐต้องการแจ้งให้ประชาชนทราบเป็นวงกว้างพร้อมกัน ผ่านระบบ Cell Broadcast Service
สำหรับในต่างประเทศจะมีการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ไม่ว่าแผ่นดินไหว ฝนตกหนัก น้ำท่วม อุบัติเหตุทางถนนที่ส่งผลกระทบวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าเกิดเหตุการณ์อะไร ควรปฏิบัติตัว และควรหลีกเลี่ยงอย่างไร
ส่วน Cell Broadcast Service สามารถแบ่งรูปแบบการแจ้งเตือน คือ 1.การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) เป็นการแจ้งเตือนที่ส่งให้ประชาชนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศพร้อมกัน หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องสื่อสารกับคนทั้งประเทศ ,2.การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วมฉับพลัน หรือ ภัยจากคนร้าย โดยสามารถกำหนดพื้นที่ที่ครอบคลุมเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์นั้นๆ และ3.การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหาย หรือคนหาย เหตุการณ์การลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าว เฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ หากพบคนหาย หรือคนร้าย สามารถแจ้งกลับมาที่ภาครัฐได้ โดยสามารถกำหนดพื้นที่ที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์นั้นๆ
ดังนั้นมองว่าประเทศไทยควรรีบนำระบบ Cell Broadcast Service มาใช้งานอย่างเร่งด่วน!!
เพื่อสื่อสารกับประชาชนในเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถส่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ทราบ!!!
ป้องกันการตื่นตระหนกหรือความเข้าใจผิดในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคต!!!