ทวี สุรฤทธิกุล

ความรักของหนุ่มสาวแบบไทย ๆ อยู่บนพื้นฐานของสังคมครอบครัวที่ผู้ใหญ่ต้องเห็นพ้อง กระนั้นเรื่องของ “หัวใจ” ก็ยิ่งใหญ่กว่าเสมอ

คนไทยนั้นมี “บันไดชีวิต” คือการก้าวขึ้นไปในแต่ละสถานะอย่างมีขั้นตอนตามที่สังคมกำหนด เมื่อเป็นเด็กก็ต้องเล่าเรียนหาความรู้ โดยเฉพาะผู้ชายก็จะต้องเล่าเรียนจนถึงขั้นได้บวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วก็ต้องแต่งงานมีครอบครัว จากนั้นก็มีลูก เลี้ยงลูก และสร้างครอบครัวให้มั่นคงรุ่งเรืองต่อไป

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจจะมี “บันไดชีวิต” ที่แตกต่างกับชายไทยอื่น ๆ พอสมควร ไม่เพียงแต่ท่านจะเป็น “ราชนิกุลหนุ่มเนื้อหอม” แต่ยังมี “ไลฟ์สไตล์” หรือการใช้ชีวิตที่ “ล้ำสมัย” สำหรับหนุ่ม ๆ ในยุคนั้น ทั้งการแต่งกายและรสนิยมต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง ที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วก็มีผลให้ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใน พ.ศ. 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 พร้อมกับการคืบคลานเข้ามาของสงครามโลกครั้งใหม่ ใน พ.ศ. 2485 ในสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่ง “มหาเหตุการณ์” ทั้งสามได้ส่งผลต่อชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อย่างมหาศาลเช่นกัน

สมัยก่อนนั้น เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดบนโลกค่อนข้างจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนไทย ส่วนใหญ่จะมีการรับรู้กันแต่ในผู้ชนชั้นสูง เช่น การเรียกร้องระบบ “คอนสติติวชั่นแนลโมนากี้” หรือ “พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ในต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ก็รู้กันอยู่แต่ในหมู่ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระเจ้าอยู่หัวจะอยู่ในฝ่ายของผู้ที่ต้องการจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ฝ่ายที่ต้องการจะรักษาระบอบเก่าไว้ก็ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งผลัดแผ่นดินแล้วในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศจีน ล้มองค์จักรพรรดิและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้น ใน พ.ศ. 2453 และอีก 2 ปีต่อมาก็เกิดกบฏขึ้นในประเทศไทย โดยกลุ่มทหารชั้นผู้น้อย นำโดยร้อยโทเหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งอ้างเหตุว่าต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐเช่นเดียวกัน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในไทย ได้แสดงให้เห็นแก่สายตาคนไทยในระดับล่าง ๆ ด้วยแล้ว

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 แม้จะสามารถสถาปนาระบอบรัฐสภาแล้วให้พระมหากษัตริย์ไปอยู่ใต้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ แต่ “พลังเก่า” ในสังคมไทยก็ยังมีอำนาจแข็งแกร่งอยู่ดั้งเดิม ซึ่งเมื่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กลับมาหลังจากที่จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2476 ท่านก็บอกว่าแม้ว่าคณะราษฎรจะล้มพวกเจ้าไปได้ แต่คณะราษฎรก็กลัวพวกเจ้าอยู่มาก จึงพยายามที่จะลดทอนอำนาจของพวกเจ้าลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกันนั้นก็เพิ่มพูนอำนาจให้แก่คณะราษฎรและพวกพ้อง เพื่อให้คนทั้งหลาย “กลัว” คณะราษฎรมากขึ้น ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ใช้คำเรียกแบบล้อเลียนถึงคณะราษฎรนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”

สำหรับชีวิตของ “เจ้าพวกเก่า” ก็ต้องคอยระมัดระวังตัวไม่ให้กระทบกระทั่งกับคนของคณะราษฎร เจ้าใหญ่ ๆ หลายพระองค์ต้องเสด็จไปประทับอยู่นอกประเทศ แต่ที่ยังต้องอยู่ในประเทศก็ต้องคบหาสมาคมแต่ในหมู่เจ้าพวกเก่าด้วยกัน ไม่เพียงแต่เพื่อความปลอดภัย แต่ก็เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เกิดอาการตื่นตระหนกอย่างรุนแรงในครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น กระนั้นผลกระทบก็มีต่อลูกหลานของบรรดาเจ้า ๆ มากพอสมควร แม้กระทั่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่เป็นเจ้าระดับท้าย ๆ ศักดิ์เพียงหม่อมราชวงศ์ ก็ยังต้องระมัดระวังตัว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าพวกเจ้าที่ท่านรู้จักจำนวนมากมีปัญหาเกี่ยวกับการหางานให้ลูกหลานทำ เพราะคณะราษฎรจะคอยขัดขวางหรือไม่ส่งเสริม ดังนั้นการรับราชการจึงเป็นไปได้ยากสำหรับบรรดาคนที่มีเชื้อเจ้า หรือถ้าเกิดไปรับราชการแล้วก็อาจจะไม่เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งราชการนั้น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผลต่อท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ด้วย ทั้งที่ท่านได้ทำงานอย่างหรูหราอยู่ในกระทรวงการคลัง แต่ด้วยความที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เตือนว่าการรับราชการอาจจะไม่มั่นคงสำหรับพวกเจ้า ที่สุดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เลือกที่จะไปทำงานในภาคเอกชน นั่นก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ ใน พ.ศ. 2478

ดังที่ทราบว่าราชสกุล “ปราโมช” นั้นเป็นราชสกุลใหญ่ เพราะต้นราชสกุลคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนวรจักธรานุภาพ เป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 ทรงตำแหน่งราชการใหญ่โตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 ดังนั้นจึงได้รับพระราชทานที่ดินให้สร้างวังอยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวัง เป็นพื้นที่ใหญ่โตพอสมควร โดยเป็นที่ดินติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ข้างพระราชวังหลัง (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและโรงละครแห่งชาติ เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า) ยาวถัดไปตลอดแนวแม่น้ำจนถึงป้อมพระสุเมรุ (ต่อมามีการตัดถนนพระอาทิตย์ผ่านกลางวัง เพื่อเชื่อมกับถนนสามเสนไปยังพระราชวังสวนดุสิต) ตัววังสร้างแบบยุโรป สวยงามอลังการพอสมควร ครั้นคณะราษฎรยึดอำนจได้ก็โอนมาเป็นของรัฐบาล ปัจจุบันเป็นที่ทำการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (FAO) บางส่วนเป็นอาคารพาณิชย์ ที่ดินและอาคารเอกชน เช่น บ้านพระอาทิตย์ของมูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล และมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน

ก่อนที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ท่านก็ยังอาศัยอยู่ที่ “วังถนนพระอาทิตย์” นี้ แต่เมื่อท่านกลับมาวังก็ได้ถูกคณะราษฎรยึดไปแล้ว ท่านไม่เคยพูดถึงความเสียใจหรือความรู้สึกใด ๆ ที่บ้านถูกยึดและไม่มีที่อยู่ ท่านบอกแต่เพียงแต่ “ไปอยู่กับพี่สาว” คือ ม.ร.ว.บุญรับ ซึ่งไปซื้อที่ดินอยู่ที่ “ซอยสวนพลู” ถนนสาธร (ตามคำเขียนสมัยนั้น) โดยที่ตัวท่านยังต้องมาทำงานที่กระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งท่านเดินทางโดยรถยนต์มาทำงาน เป็นรถที่พี่สาวให้ขับไปส่งและรับกลับ และบางทีท่านก็ขับเองด้วย ซึ่งระหว่างทางที่นั่งรถผ่านไปมานี่เอง ที่ทำให้ท่าน “พบรัก”

จากบ้านซอยสวนพลู เมื่อออกมาถนนใหญ่จะเป็นถนนสาธร เมื่อ พ.ศ. 2478 นั้นยังคงมีลำคลองใหญ่อยู่ตรงกลาง แบ่งถนนสาธรเป็นสาธรเหนือและใต้ รถของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องขับขึ้นไปตามถนนสาธรใต้ไปทางทิศตะวันตก เมื่อถึงถนนเจริญกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็ต้องเลี้ยวขวาไปทางบางรัก ผ่านตลาดน้อย ไปเยาวราช ผ่านย่านวังบูรพาและเฉลิมกรุง แล้วไปข้ามคลองหลอดตรงถนนอัษฎางค์ ข้างกระทรวงมหาดไทย เลียบกระทรวงกลาโหม ไปทะลุหน้าวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาเข้าถนนมหาไชยเลียบพระบรมมหาราชวัง แล้วเข้าประตูวิเศษไชยศรี และกระทรวงการคลังก็อยู่ข้างในนั้น เช่นเดียวกันเมื่อจะกลับบ้านก็ขับย้อนออกมาตามเส้นทางดังกล่าวนี้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า เย็นวันหนึ่งพอนั่งรถก่อนจะถึงแยกเฉลิมกรุง ด้านขวามือเป็นร้านถ่ายรูปชื่อ “ฉายาเฉลิมกรุง” สายตาของท่านแวบไปเห็นภาพถ่ายตั้งโชว์หน้าร้านที่แสนโดดเด่นภาพหนึ่ง เพราะเป็นภาพของหญิงสาวที่ “สวยเหมือนฝัน” ภาพนี้ติดตาท่านนัก จนต้องไปเที่ยวถามใคร ๆ ต่อใครว่าเจ้าของภาพเป็นใครกันหนอ ที่สุดก็เป็นญาติพี่น้องของท่านนั่นเองที่บอกว่า หญิงสาวในภาพคือ “ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ทองใหญ่” ธิดาของ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าได้จดจำชื่อนี้มาโดยตลอดนับแต่บัดนั้น

ความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่นี้ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือพี่สาวของท่านนั้นก็เห็นพ้องต้องกันด้วยดี ไม่นานก็ได้ไปหาฤกษ์เพื่อตกแต่งสมรส ครั้นแต่งงานเรียบร้อยแต่ก็ยังไม่ทันที่จะได้ไป “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” อะไร ณ ที่ใด ๆ ก็ต้องไปทำงานที่จังหวัดลำปาง ตามตำแหน่งงานใหม่ที่ตกลงไว้แล้ว คือผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ ณ จังหวัดลำปางนั้น

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าชีวิตของท่านนี้คล้าย ๆ “ขุนแผน” คือแต่งงานแล้วก็ต้อง “ออกศึก” หมายถึงต้องไปทำงานไกล ๆ กระนั้นท่านก็บอกว่าเป็นศึกที่สู้แล้วสนุก เพราะมี “เพื่อนร่วมศึก” จำนวนมาก หมายถึงเพื่อนร่วมงานและร่วมพื้นที่เมื่อครั้งไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งทำให้ท่านผูกพันกับคนในภาคเหนืออย่างลึกซึ้ง คล้ายกับว่าท่านคือชาวพื้นที่ที่เคยอยู่ตรงนี้มานานเมื่อชาติก่อน ๆ นั้น

ความผูกพันนี้ทำให้ลูก ๆ ของท่าน นำเถ้ากระดูกส่วนหนึ่งของท่านไปโปรยบนยอดดอยขุนตาน คล้ายเป็นสัญญาว่านี่คือแผ่นดินที่ท่านเคยอยู่มาแต่ก่อน