ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ
อาณาจักรใจ ฉันยังไม่มีใครครอง
ไม่มีเจ้าของ ครองใจหมายผูกพัน
เพราะว่าดวงใจดวงนี้ยังไม่ต้องการ
ความรักนิรันดร์จากชายที่หมายภักดี
..................................................................
ข้างบนนั้นคือท่อนแรกของเพลง “หัวใจไม่มีใครครอง” เพลงแรกในการบันทึกเสียงของ ผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย ผู้จากไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
ผ่องศรี วรนุช เกิดที่ชัยนาท เป็นครอบครัวชาวแพริมแม่น้ำ ฐานะค่อนข้างยากจน อายุเพียง 15 ปีจึงออกจากบ้านไปทำงานจิปาถะอยู่ในคณะละครเร่ของ หนู สุวรรณประกาศ ต่อมาได้เป็นนักร้องสลับฉากของคณะ มีความหวังว่าสักวันจะมีชื่อเสียงในฐานะนักร้องมีผลงานแผ่นเสียง
แต่หลังจากไปทดสอบกับครูเพลงหลายคน ไม่ได้การตอบรับ จึงตัดสินใจนำเงินที่เก็บหอมรอมริบซื้อเพลงจากครูเพลงและหัวหน้าวง สุรพล พรภักดี และลงทุนบันทึกเสียงเอง เพลงนั้นก็คือ "หัวใจไม่มีใครครอง" ผ่องศรี เคยให้สัมภาษณ์นักจัดรายการคนหนึ่งว่า เพลงนี้บันทึกเสียงในปี 2500 ขณะที่เธอมีอายุเพียง 18 ปี ถูกใส่ไว้ในแผ่น 7 นิ้ว (ซิงเกิ้ล) คู่กับเพลง “ชาละวัน” ของ วัลลภ วิชชุกร ที่อยู่อีกด้านหนึ่ง
"หัวใจไม่มีใครครอง" ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ทำให้เริ่มมีคนในวงการให้ความสนใจ ผ่องศรี ได้บันทึกเสียงอีกหลายเพลง และในที่สุด ผ่องศรี ก็ได้เข้าไปอยู่ในวงดนตรี สุรพล สมบัติเจริญ
ตอนนั้น สุรพล กำลังโด่งดังจากเพลง “ลืมไม่ลง” ที่แต่งโดย สำเนียง ม่วงทอง เขาจึงแต่งเพลงแก้ชื่อ “ไหนว่าไม่ลืม” ให้ ผ่องศรี ร้องบันทึกเสียงเป็นแผ่น 7 นิ้ว
เพลงนี้ทำให้ ผ่องศรี กลายเป็นนักร้องหญิงดังที่สุดในยุคนั้น รู้จักกันทั่วประเทศ แม้ว่าในเวลาต่อมา เกิดความขัดแย้งบางอย่างกับ สุรพล จนต้องแยกตัวออกมาจากวง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชื่อเสียงของ ผ่องศรี ลดลง เธอมีเพลงยอดนิยมออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่าง "ด่วนพิศวาส", "กอดหมอนนอนหนาว", "วิมานในฝัน", "ไหนว่าไม่ลืม", "น้ำตาเมียหลวง", "ฝนหนาวสาวครวญ", "คืนนี้พี่นอนกับใคร", "สาวเหนือเบื่อรัก", "ข้าวคอยเคียว", "คนสุดท้าย", "น้องเป็นคนรักที่เท่าไหร่", "น้อยใจรัก", "ฝากดิน", "บาร์หัวใจ", “กินข้าวกับน้ำพริก” เป็นต้น
ผ่องศรี โด่งดังมาตั้งแต่วงการเพลงไทยยังไม่มีการแบ่งเป็นเพลง “ลูกกรุง” และ “ลูกทุ่ง” และหลังจากมีคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ที่ตั้งขึ้นโดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ เมื่อปี 2007 จึงไม่แปลกอะไรที่ ผ่องศรี จะได้รับสมญา ‘ราชินีลูกทุ่ง’ อย่างไร้ข้อกังขา
ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าจากเพลงแรก “หัวใจไม่มีใครครอง” ซึ่งเป็นเพลงเร็ว หลังจากนั้นเพลงที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ของ ผ่องศรี กลับเป็นเพลงช้า และด้วยเสียงร้องหวานใส การตีความเพลงอย่างเข้าถึงอารมณ์ ไม่เพียงทำให้ ผ่องศรี นั่งอยู่ในใจของผู้ฟัง ยังมีอิทธิพลต่อนักร้องลูกทุ่งหญิงที่ตามมาเกือบทุกคน เช่น เรียม ดาราน้อย, บุปผา สายชล, สุนารี ราชสีมา, ศิรินทรา นิยากร ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “ราชินีลูกทุ่ง” คนต่อมา
ผ่องศรี วรนุช ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยลูกทุ่ง-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2535
ระยะหลัง ด้วยวัยที่มากขึ้น ร่างกายแข็งแรงน้อยลง ผ่องศรี ล้มป่วยด้วยโรคปอด เข้าๆออกๆโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดก็จากไปในวัย 85 ปี 10 เดือน
ช่วงบั้นปลายชีวิต ผ่องศรี ออกร้องเพลงต่อสาธารณะน้อยลง มักจะเป็นงานการกุศลและสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้เธอยังสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์ผ่องศรี วรนุช’ ไว้ที่บ้านแถวพุทธมณฑลสาย 5 เพื่อแสดงประวัติความเป็นมา และรางวัลทรงเกียรติยศที่ได้จากการเป็นนักร้อง โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องราวในอดีตได้เข้าชมฟรี
แต่ไม่มีมรดกใดที่ ผ่องศรี วรนุช ทิ้งไว้ จะทรงคุณค่ามากไปกว่าเสียงร้องบันทึกเสียงที่สุดยอดและทรงอิทธิพล และถัดจากนี้คือท่อนสุดท้ายของเพลง “ด่วนพิศวาส”
..................................................................
เสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย
บอกเตือนเหมือนกำหนดหมาย
หยาดน้ำตาไหลนองหน้า
ขออำลาแล้ว ดวงแก้วมณีล้ำค่า
หากว่าแม้นชาติหน้า มีจริงค่อยเจอกัน