ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“จิตวิญญาณแห่งการใช้ชีวิต..เป็นวิถีแห่งปัญญาอันเนียนแนบและซ่อนลึกอยู่ภายใน..แต่มีประกายสะท้อนส่องแสงสัมผัสสู่ภายนอกเสมอ ...มันคือความงดงามแห่งใจอันพิสุทธิ์..ผ่านความเรียบง่ายอันจริงแท้สู่ภาวะสำนึก แห่งหัวใจของความสำเร็จ..นั่นคือสัจธรรมของการโลดเต้นอันฉายฉานไปด้วยสีสันของอารมณ์รับรู้ และความรู้สึกที่อยู่เหนือเจตจำนง...เหล่านี้..คือตัวตนแห่งตัวตนอันสมบูรณ์หลังจากได้ฝึกฝนจากการรับรู้ในรู้สึก..ที่เคลื่อนไหวท่ามกลางแรงซัดเหวี่ยงและเคลื่อนย้ายของโลก..อยู่เสมอ..”

และ..นี่คือปฐมบทแห่งหนังสือที่สื่อแสดงถึงภูมิสำนึกอันมีค่า.. “นั่งตกปลากับบัฟเฟตต์” (Gone Fishing with Bufette) ผลงานเขียนของ “ฌอน เชีย” (Sean Seah)..มันคือตำราสอน “การลงทุนอย่างมีคุณค่า” (Value Investing)..สำหรับนักลงทุนมือใหม่ทุกคน..เป็นการเน้นย้ำให้ประจักษ์ถึง..ห้องเรียนแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า..จาก “ชายชราลึกลับ”

ทั้งหมดดั่งเป็น อุบัติการณ์แห่งเรื่องราว “สอนการลงทุน” ผ่านตัวละครระหว่าง “เม่าอยากเล่า” กับ “ชายชรานักตกปลา”..ที่มีภูมิปัญญาทางด้านการเงินและการลงทุนอันเฉียบแหลม..อย่างที่ “เม่า” และคนสามัญธรรมดาโดยทั่วไปยากจะเข้าถึง..!

ประเด็นแห่งนัยทั้งหมดคือแบบจำลอง..ของบทเรียนแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า..ที่มีศักยภาพแห่งประสบการณ์ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นรากฐานความคิดในแนวทางปฏิบัติที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง และ..จับใจความได้ไม่ยาก ..อีกทั้ง..ยังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง..โดยเขาเชื่อว่า..ความสำเร็จที่แท้จริง มักเกิดกับผู้ที่อดทนพอ ที่จะให้โอกาสมาเยือน..!

“เหมือนการตกปลาเราต้องรอให้ปลาที่ใช่มากินเหยื่อ ไม่ใช่แค่รีบยกเบ็ดขึ้นทุกครั้งที่เห็นการเคลื่อนไหว..”

เหตุนี้การรอคอย จึงไม่เพียงแต่ช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า...แต่ยังเป็นการฝึกฝนจิตใจให้สงบและมีวินัยในตัวเองอีกด้วย..! และในขณะที่..ในโลกของวันนี้..ทุกคนต่างวิ่งตามผลลัพธ์อย่างเร่งรีบ “การรอคอยดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น..อย่างไร้ความหวัง อีกต่อไป..!”

“วอร์เรน บัฟเฟตต์”..เกิดที่เมือง “โอมาฮา” รัฐ “เนแบรสกา” สหรัฐฯอเมริกา..เป็นนักธุรกิจและนักลงทุนผู้ใจบุญ..เป็นลูกคนที่ 2 และ เป็นลูกชายคนเดียวของพี่น้อง 3 คน..พ่อของเขาทำงานที่โบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น..นิสัยของ “บัฟเฟตต์” เป็นคนมัธยัสถ์แม้จะร่ำรวยทะลุ 106,000 ล้านดอลลาร์..แต่ก็ยังอยู่บ้านหลังเดิมที่ซื้อมาในราคาเพียง 30,000 ดอลลาห์....เขามีหลักการคำสอนสำคัญ..ที่ดังก้องโลกว่า..

“หากเราใช้เงินค่าสินไหมทดแทนใบรับรองหุ้น (Berkshire Hathaway) มาดีกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ กับตัวเอง ความสุขและความหดหู่ของเราจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน 91 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและสัญชาตญาณของผู้อื่น” ...คำสอนของเขาต่อโลก..จึงมักมีแนวทางเสริมส่งให้คนเรารู้สึกตระหนัก..ด้วยพื้นฐานของการลงทุนทั้งการค้ากับชีวิต..อันน่าจดจำและศึกษา..ดั่งเช่น.. “การอ่านคือบันไดสู่ความสำเร็จ”/ “จงเลือกคบคน”/ “ทักษะสื่อสารคือสิ่งที่ล้ำค่า”/และ “สิ่งที่ควรลงทุนที่สุด ก็คือการลงทุนในชีวิตของตัวเอง”/ฯลฯ....

หนังสือ..ดำเนินเรื่องด้วยชีวิตของ “ฌอน” เด็กหนุ่มวัย 26..ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ.ถือเป็น “มือใหม่”..ผ่านความทรงจำจากคำสอนของอาจารย์ที่ย้ำให้จดจำว่า “..ไม่มีใครเอาชนะตลาดได้”..ซึ่งก็เป็นไปตามทฤษฎีตลาดประสิทธิภาพ..แต่เขากลับเชื่อในคำสอนนี้ของอาจารย์ เขากลับหวังว่าจะเอาชนะตลาดได้..จึงได้เข้าอบรมหลักสูตรการเทรดหุ้น ที่คนสอนอ้างว่า..ระบบเทรดหุ้นของเขา สามารถทำเงินได้หลายล้าน..จนเขาหลงเชื่อ..และไปชวนเพื่อนมาเทรดหุ้น..ตามระบบที่ว่าข้างต้น..แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับคือการขาดทุนอย่างย่อยยับ..

และ..ขณะที่เขากำลังกลุ้มใจจากการเทรดหุ้นขาดทุนนั้น..เขาได้หลบหน้าผู้คนไประงับใจที่ท่าเรือ..แล้วเขาก็ได้พบกับ “ชายชราลึกลับ” ..ที่กำลังตกปลาอยู่ที่นั่น..นั่นคือ..จุดเปลี่ยนชีวิต..เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเป็นนักลงทุนของเขา..เขาได้เรียนรู้วิชาการลงทุนแบบ “เน้นคุณค่า”..ซึ่งแท้จริงก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน หรือยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ..

“กฎข้อแรกของการลงทุนคืออย่าขาดทุน..และกฎที่สองของการลงทุนก็คือ..อย่าลืมกฎข้อแรก” สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้..แบ่งออกเป็น  ภาค..อันประกอบด้วยความน่าสนใจ..ต่อไปนี้..

ภาคที่ 1 “เหยื่อ”..เมื่อ “ฌอน” เดินอยู่บนท่าเรือ..พร้อมกับคิดว่า..ทำไมทุกสิ่งทุกอย่างต้อง..มาเกิดขึ้นกับเขา?..ทำไมเขาไม่รับฟังศาสตราจารย์ที่สอนเขาตอนเรียนปริญญาตรี.. “คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะตลาดได้..เพราะฉันนั้นจงอย่าได้ลอง” แต่เขาไม่ปรารถนา..และไม่ยอมให้..ความหวังที่จะเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น..ถูกทำลายลงไป..!

“ชายชราผู้ตกปลา” ได้ให้ข้อคิดสำคัญต่อ “ฌอน” ว่า “ปลาไม่ตกลงในถังหรอก..ต้องออกไปหาปลา..ในสูตรการแก้ปัญหา มันไม่มีแนวทางที่มา..เพื่อออกไปหาอะไรบางอย่าง..!” ขอเพียงแต่เข้าใจและปฏิบัติตามกฎต่อไปนี้ให้ดีและมั่นคงเท่านั้น..คือ 1... “ไม่ต้องมีการลงทุน/และ 2...อย่าลืมกฎข้อที่ 1 โดยตั้งเป้าหมายว่า..จะทำเงินให้ได้มาก แต่ให้ความสำคัญกับการตระหนักว่า..ภาวะของการขาดทุนนั้นได้สร้างความเสียหายขนาดไหน..?! เนื่องเพราะ ..คนส่วนใหญ่เข้ามาในตลาดหุ้น โดยตั้งเป้าว่า จะทำเงินให้ได้มากๆ แต่พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่า..การขาดทุนนั้น ..สร้างความเสียหายให้มากมายขนาดไหน?

“ถ้าเริ่มลงทุนด้วยเงิน 100,000 ดอลลาร์ ถ้าขาดทุน 50 เปอร์เซ็นต์จะเหลือเงิน 50,000 ดอลลาร์..และถ้าจะให้ 50,000ดอลลาร์ กลับไปสู่ 100,000 ดอลลาร์..ก็ไม่ใช่การทำกำไร 50 เปอร์เซ็นต์..แต่มันต้องเป็น 100 เปอร์เซ็นต์..ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องให้เงินทำงานหนักขึ้น..เป็น 2 เท่า..เพื่อที่จะทำให้ส่วนราคาขยับกลับมา....ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่า..ทำไมเมื่อเสี่ยงที่จะลงทุน..ควรจะต้องลงทุน..เมื่อมั่นใจว่า..จะไม่ละเมิดกฎข้อที่ 1"

ภาคที่ 2 “นักตกปลา”..

“...ชายชรา” ชวน “ฌอน” แข่งขันตกปลาโดยถ้าใครได้ปลามากกว่า จะได้เงินตัวละ 1,000 ดอลลาร์ แต่หากชายชราจับปลาได้มากกว่า ฌอนจะเลี้ยง เบอร์เกอร์ 1 ชิ้นและโค้กหนึ่งกระป๋อง/โดยใช้เวลาแข่งขัน 1 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนด ฌอน..ตกปลาได้ 5 ตัว ชายชราตกปลาได้ 2 ตัว..

... “ชายชรา” จึงได้วางเบ็ดลง..แล้วเดินข้ามไปอีกฟากจากที่ตกปลาได้..เขานั่งยองๆแล้วดึงแหขึ้นมา..จับปลาโยนใส่ถังแล้วหัวเราะ ..!  ฌอน..จึงรู้ว่าเขาถูกหลอก เพราะเขาใช้เบ็ดตกปลา แต่ชายชรากลับใช้แหร่วมด้วย/ชายชราดูนิ่ง..คล้ายกับรู้อยู่แล้วว่า.. “ต้องเป็นเช่นนั้น” ..พร้อมกับบอกให้..ฌอน..นั่งลง..แล้วเขาจะบอกกับ ฌอนว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง..จากการแข่งขันคราวนี้..!

“..ในโลกธุรกิจ ความได้เปรียบอย่างชัดเจน เรียกกันว่า ..ความได้เปรียบทางการแข่งขัน..(Complete Advantage)หรือ คู่เมืองทางเศรษฐกิจ(Economic Moat)..นักลงทุนจะเน้นคุณค่า โดยจะซื้อธุรกิจที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน เพราะมันจะชนะและชนะอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่มีความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่ง..

โดยคู่แข่ง..แบบฌอนนั้น..จะย้ำแต่ว่าความได้เปรียบนั้นไม่ยุติธรรม และธุรกิจแบบนี้มันผิดกฎหมาย การแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม..!

“เธอเชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดนี้..ได้ไหม?” ฌอนยิ้มอย่างรู้สึกอาย และ พยักหน้า..!

ภาคที่ 3..ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่.. “ต้องมองหุ้นว่าคือธุรกิจ” เพราะมันคือสิ่งที่เป็นจริง มันไม่สมเหตุผลเลยที่จะซื้อธุรกิจ โดยที่ไม่รู้ว่า ..ธุรกิจนี้ทำอะไร และสร้างผลงานเป็นอย่างไร ..? “..เราคงจะไม่ซื้อรถยนต์เพียงเพราะว่าราคามันกำลังเพิ่มขึ้น..โดยไม่รู้...เลยเกี่ยวกับคุณสมบัติของรถยนต์..”

ภาคที่ 4..ราคาที่สมเหตุผล...การซื้อธุรกิจในราคาที่สมเหตุผลหมายความว่า..นักลงทุนจะจ่ายในราคาที่เหมาะสมกับธุรกิจเท่านั้น ต้องสอดคล้องกับกำไรที่จะได้รับ บ่อยครั้งที่พยายามซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง.. 5.การนำไปใช้..

..หุ้นไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขที่ขึ้นๆลงๆอยู่บนหน้าจออีกต่อไป..นี่คือธุรกิจว่า

ด้วยนายตลาดมานำเสนอในทุกๆ วัน ใครก็ตามที่เข้าใจแนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ..ก็จะเห็นโอกาสอันมากมาย..ส่งผลให้การใช้ชีวิตในทุกๆวันเต็มไปด้วยความน่าสนใจ..!

แล้วก็มาถึง..วาระแห่งการจากลา/..เวลาได้ผ่านไป...หลังจาก "ฌอน" ได้พบกับชายชราตกปลาที่ท่าเรือ.. ในสัญญะของ “เถ้า” ชีวิตของเขาได้เติบโตขึ้น..ด้วยทั้งคำสอนและคำแนะนำของ “ชายชรา”..รวมทั้งกระบวนความคิดในการพิจารณาตัดสินใจ...เขาได้กลายเป็นนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่มีความมั่นใจและกล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง..อีกทั้งชายชรายังสอนเขาเป็นการปิดท้ายว่า.. “เงินเป็นเพียงสิ่งแสดงลักษณะนิสัยของเราออกมา..ถ้าเป็นคนไม่ดี..เขาก็จะเป็นคนไม่ดีที่มีเงินพันล้าน..แต่ถ้าเป็นคนดี..เขาก็จะเป็นดีที่มีเงินพันล้าน..เช่นเดียวกัน..! “ไม่มีใครที่ได้เห็นชายชราที่ท่าเรืออีกเลย..แต่สำหรับฌอนเขายังมาที่นั่นอยู่เนืองๆ”

..นี่คือหนังสือที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งชีวิตของวันนี้..โลกที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของวิธีการในอาชีพของการลงทุน..ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและประสบผลสำเร็จในด้านนี้มากที่สุดได้ยึดเป็นปรัชญาแห่งการสร้างสรรค์อาชีพแห่งชีวิตได้อย่างยิ่งใหญ่ “ฌอน เชีย” ในฐานะผู้เขียนได้รวบรวมและตีความนัยความคิดแห่งเจตจำนงของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ออกมาเป็นเรื่องเล่าซ่อนเรื่องเล่า..ผ่านฉากแสดงอันลึกซึ้งเข้มข้นผ่านชีวิตของตัวละครสำคัญ 2 ตัว ผสานเข้ากับโครงสร้างแห่งศาสตร์ทางธุรกิจที่รังสรรค์โลกให้เติบโต....เป็นผลงานสร้างสรรค์สุดพิเศษที่ควรแก่การยกย่องต่อการเรียนรู้ "วิชาการชีวิตร่วมสมัย" ทั้งในวันนี้และตลอดไป.

“พงษ์พันธ์ วงษ์หนองเตย” และ “เมษ์ ยางประยงค์” ร่วมแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาได้อย่างสอดผสาน ..เห็นถึงปณิธาน และอุดมการณ์อันล้ำค่าของศาสตร์อันซับซ้อนในวิถีแห่งปรัชญาทางธุกิจ..กว้างขวางแต่รัดกุมล้ำลึก!

“..ความผิดพลาดคือบทเรียนอันทรงคุณค่า..การยอมรับความผิดพลาดและไม่ปฏิเสธที่จะเรียนรู้จากมัน เป็นคุณสมบัติที่ทำให้เราเติบโตอย่างยั่งยืน..!”

 

.