“ในหลวง – พระราชินี” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  มอบสิ่งของบำรุงขวัญกำลังใจทีมสุนัขค้นหาและกู้ภัย (K9) ด้าน “ก.อุตสาหกรรม” แถลงคืบหน้าเตรียมลงพื้นที่พร้อม “ดีเอสไอ” ลุยเก็บตัวอย่างเหล็ก ตึกสตง.ถล่ม เพิ่มอีกครั้ง 11เม.ย.นี้ ขณะที่“สตง.” จ่อแถลงเหตุตึกถล่มหลังสงกรานต์ ยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ “กทม.” เผยยอดเหยื่อตึกถล่มล่าสุด ดับ 23 เจ็บ 9 ยังติดตามอีก 71 ราย

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 68 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ พลเรือตรี สกาย เภกะนันทน์ เป็นผู้เชิญสิ่งของพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย เงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมตะกร้าสิ่งของผลิตภัณฑ์อาหารและบำรุงสุขภาพสำหรับสุนัข เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่สุนัขค้นหาและกู้ภัย (K9) จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สุนัขตำรวจ สุนัขทหาร และสุนัขทีม USA Thailand โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตจตุจักร และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ เขตจตุจักร

ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุนทรแก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และนางวิรงรอง พรพิมลเทพ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย (สมอ.) ร่วมแถลง ข้อเท็จจริงในการตรวจสอบเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด

ซึ่งในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 - มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวง อุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงาน ร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท"

สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ชินเคอหยวน สติลจำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัท ดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ วานนี้ (9 เม.ย.68) นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย สมอ. ได้เข้าพบ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน , กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ร่วมหารือกันเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเข้าที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ และกำหนดหน้างานให้ชัดเจน เพื่อให้ใช้เวลาน้อยในการทำงาน ได้ตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้แบ่งหน้าที่กันและเข้าไปดูหน้างานจริงในที่เกิดเหตุ จึงได้กำหนดเรียงลำดับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยคิวแรกเป็นของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่ง สมอ. มีกำหนดจะเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในที่เกิดเหตุเพิ่มเติม ในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568

ขณะเดียวกัน กรุงเทพมหานคร สรุปยอดผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 9 ราย อยู่ระหว่างการติดตามผู้สูญหาย 71 ราย รวมยอดจำนวนผู้ประสบเหตุ 103 ราย