หากพูดถึงการเรียนต่อเมืองนอก สหราชอาณาจักรก็คงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักเรียนไทยหลายคน ไม่ใช่แค่คุณภาพการศึกษาที่เป็นเลิศ แต่ยังเป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เตรียมความพร้อมสู่ความก้าวหน้าในสายงาน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นศิษย์เก่าจากสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก ในหลากหลายวิชาและสาขาอาชีพและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรชั้นนำตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ในวันนี้ บริติช เคานซิล ได้เชิญ 2 ศิษย์เก่า เจ้าของรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นมาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ที่ประทับใจจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจศึกษาต่อ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัย Oxford เปิดเผยว่าการศึกษาในสหราชอาณาจักรเป็นรากฐานสำคัญที่นำพาบิทคับ สู่การเป็นยูนิคอร์นได้ภายใน 3 ปี และกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย เขาอธิบายว่าระบบการศึกษาของสหราชอาณาจักร ไม่ได้ป้อนข้อมูล แต่ท้าทายให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ภายใต้สถานการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) ที่จำเป็นต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้และรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

นอกจากนี้ นายจิรายุสกล่าวเสริมว่าสภาพแวดล้อมทางวิชาการที่ท้าทายในสหราชอาณาจักรช่วยส่งเสริมความอดทน (Persistency) และความมุ่งมั่น (Perseverance) ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองและความกล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกการทำงานจริงด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคมโดยการส่งเสริมและพัฒนาผู้นำและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัย Nottingham ได้แชร์ว่าการศึกษาในสหราชอาณาจักร เน้นย้ำถึงความสำคัญของการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ซึ่งเป็นทักษะหลักที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการวิจัยของเธอ ทั้งในด้านการกำหนดโจทย์วิจัย การพัฒนาต่อยอด และการวิเคราะห์ภาพรวม ทักษะเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของเธอในด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและบริการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังช่วยสนับสนุนบทบาทของเธอในฐานะผู้ให้คำปรึกษาแก่นักวิจัยรุ่นใหม่อีกด้วย

นอกเหนือจากเรื่องการเรียนการสอน เธอยังประทับใจที่สหราชอาณาจักรเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและช่วยสร้างคอนเนคชั่นที่ดีและยั่งยืน เธอยังคงติดต่อกับเพื่อนและอาจารย์ ที่นั่นแม้จะผ่านมา 20 ปีแล้วก็ตาม อีกทั้งยังประทับใจในทัศนคติที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร เนื่องจากวัฒนธรรมสตาร์ทอัพเฟื่องฟูที่นั่นเร็วกว่าประเทศไทยมาก แนวคิดของสหราชอาณาจักรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมยังเห็นได้ชัดอีกจากการที่เขาให้ความสำคัญกับการวิจัยทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นประยุกต์ เพื่อนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหา สร้างมูลค่าเพิ่ม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า "ผู้ให้บริการโซลูชัน" (Solutions Provider) ซึ่ง ดร. อุรชาเชื่อว่าประเทศไทยสามารถนำโมเดลนี้ไปปรับใช้เป็นแบบอย่างได้"

ข้อมูลจากบริติช เคานซิลประเทศไทยล่าสุดระบุว่า สหราชอาณาจักรยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักเรียนไทย โดยในปีการศึกษา 2565/2566 มีนักเรียนไทยกว่า 6,000 คน เลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักอื่นๆนอกจากนั้นสหราชอาณาจักรยังคงเปิดรับนักเรียนไทย และพร้อมให้การสนับสนุนผ่านนโยบายต่างๆ เช่น วีซ่า New Graduate Route ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปสามารถอยู่ต่อเพื่อหาประสบการณ์ทำงานได้อีก 2-3 ปี นอกจากนั้นบริติช เคานซิลยังมีทุนการศึกษาต่าง ๆ มากมายเพื่อเปิดโอกาสให้กับนักเรียน นักศึกษาไทย เช่น ทุน GREAT Scholarships สำหรับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โดยในปีการศึกษา 2025-26 นี้มีให้สำหรับนักเรียนไทยมากถึง 17 ทุน  เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาในความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังฉลองครบรอบ 170 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568 นี้

ผู้ที่สนใจศึกษาต่อสหราชอาณาจักร หรือสนใจทุนการศึกษาในสหราชอาณาจักร สามารถติดตามข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อได้จากเว็บไซต์ Study UK ของบริติช เคานซิล  https://study-uk.britishcouncil.org/th