ชลประทาน น้ำก่ำ เร่งระบายน้ำช่วยพื้นที่นาปรัง เริ่มขาดน้ำกว่า 1,000 ไร่ มั่นใจปริมาณน้ำเก็บกัก เพียงพอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลดีจากโครงการ พระราชดำริ สามารถเก็บน้ำทำการเกษตรเพียงพอตลอดฤดูแล้ง สร้างรายได้เกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า พื้นที่นาปรัง ของเกษตรกร ชาวบ้านเหล่ากกตาล ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กว่า 1,000 ไร่ ถึงแม้ช่วงนี้จะเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ในช่วงข้างออกรวงตั้งท้อง แต่โชคดี อยู่ในเขตดูแลรับผิดชอบ ของ โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษา น้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 นครพนม ถือเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 เพื่อดูแลแก้ปัญหาน้ำท่วม และแก้ภัยแล้ง ตลอดแนวลำน้ำก่ำ ที่รองรับน้ำหนองหาน มาจาก สกลนคร ถึง นครพนม ก่อนไหลระบายลงน้ำโขง โดยเฉพาะฤดูแล้ง ถึงแม้เกษตรกรจะขาดน้ำ แต่ได้อานิสงค์จากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยระบายน้ำช่วยพื้นที่นาปรังปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 – 3,000 ไร่
ทั้งนี้ นายเอกชัย บุญมาวงษา ผู้อำนวยการ โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษา น้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 ยืนยันว่า ถึงแม้จะมีพื้นที่ นาปรังขาดน้ำ แต่มีน้ำเพียงพอส่งไปช่วยเหลือเลี้ยงพื้นที่ข้าวนาปรัง จนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ปัจจุบัน มีปริมาณเก็บน้ำภาพรวม ประมาณกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเก็บได้เต็มความจุประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมดูแลพื้นที่นาปรังได้ประมาณ 3,000 ไร่ ส่วนฤดูฝนสามารถดูแลพื้นที่นาปี ได้ประมาณ 50,000 ไร่ นอกจากนี้ ตลอดลำน้ำก่ำ ยังมีประตูควบคุมน้ำ 4 จุด คือ หนองบึง นาขาม นาคู่ ธรณิศนฤมิต ก่อนไหลลงสู่น้ำโขง อีกทั้งยังมีประตูควบคุมลำน้ำสาขา ลำห้วยแคน ลำน้ำบัง ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำบัง ประตูบ้านตับเต่า และประตูบ้านนาบัว ทำให้บริหารจัดการน้ำได้ทั้งป้องกันน้ำท่วม และรับมือภัยแล้ง มั่นใจปีนี้ฤดูแล้งมีน้ำเพียงพอ ฝากประชาสัมพันธ์เกษตรกร งดปลูกพืชในพื้นที่นอกเขตชลประทาน
สอบถาม นายอดุลย์ ชีโว อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 บ้านเหล่ากกตาล ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม นครพนม ยอมรับว่า ทุกปีช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีอาชีพอื่น นอกจากทำนาปรัง มีพื้นที่ปีละกว่า 1,000 ไร่ ทำให้ปริมาณน้ำใต้ดินไม่เพียงพอ ช่วงเดือน มีนาคม - เดือนเมษายน ข้าวนาปรังจะเริ่มตั้งท้อง ทำให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ โชคดีมีโครงการ พระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยทุกปีจะขอรับการสนับสนุนน้ำจาก โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษา น้ำก่ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 นครพนม มาหล่อเลี้ยงพื้นที่นาปรัง ทำให้มีอาชีพม รายได้เสริม อนาคตหากมีการเพิ่มระบบชลประทานครอบคลุมพื้นที่ มั่นใจว่า จะส่งผลดีต่อชาวบ้าน สามารถทำนาปรังได้เพิ่มขึ้น