วันที่ 10 เม.ย.68 ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ เขตจตุจักร (หมอชิต2) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ "สงกรานต์นี้ กลับบ้าน พาลูกหลานกลับมาเรียน" เชิญชวนคนไทยบอกต่อข้อมูลโอกาสและทางเลือกการศึกษาฟรี ที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต ไปให้ถึงครอบครัวเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา หรือกำลังตัดสินใจจะไม่เรียนต่อเพราะความยากจน ด้อยโอกาส ผ่านโครงการ "โรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ให้โรงเรียนไปหา" โดยมี เครือข่ายสื่อมวลชน ศิลปิน และหน่วยงานต่างๆ ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เช่น อิงฟ้า วราหะ เครือข่ายศิลปิน หมอลำไอดอลบขส. เข้าร่วมรณรงค์ในครั้งนี้

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดในปี 2567 ของ คณะกรรมการ ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ พบว่า ประเทศไทยมีเด็ก เยาวชนนอกระบบการศึกษา ตั้งแต่ช่วงอายุ 3-18 ปี (เกิดระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2550 - 31 ธันวาคม 2564) จำนวนทั้งสิ้น 982,304 คน จากข้อค้นพบของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า การเข้าไม่ถึงข้อมูลที่พาไปถึงโอกาสการศึกษา และการไม่มีทางเลือกอื่นในการศึกษาเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ ผู้ปกครองและนักเรียนตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ

กสศ.และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการ "โรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา" เพื่อนำทางเลือกการศึกษาฟรี ยืดหยุน ตอบโจทย์ชีวิตไปให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และเริ่มต้นรณรงค์ตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อเชิญชวนครอบครัว พี่น้องแรงงานที่กำลังกลับบ้าน รวมถึงประชาชนทุกคนในสังคม บอกต่อข้อมูลโอกาสและทางเลือกการศึกษาไปให้ถึงครอบครัว เด็ก เยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา หรือกำลังตัดสินใจไม่เรียนต่อ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือน้องๆ ให้กลับมาเรียนได้ทันเปิดเทอมใหม่ปีการศึกษา 2568 เดือนพฤษภาคมนี้ จำนวน 55,000 คน ทั่วประเทศ เนื่องจากมีการสำรวจไว้แล้ว รอนำเข้าระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการต่อไป

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวเสริมว่า โครงการ "โรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา" กสศ.ร่วมมือกับเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เครือข่ายสถานศึกษาที่จัดการศึกษายืดหยุ่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ รวมถึงสถานประกอบการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาชีพ และ ชุมชน ซึ่งมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญร่วมจัดการเรียนรู้ฟรีและได้วุฒิการศึกษาตามกฎหมาย ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ม.ต้น และม.ปลาย (ป.6.ม.3.ม.6) โดยเน้นรูปแบบความยืดหยุ่นของการเรียน สามารถเรียนที่ไหน ก็ได้ทั้ง Online และ Onsite มีครูพี่เลี้ยง ช่วยแนะแนว ให้คำปรึกษา และร่วมออกแบบแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสม กับผู้เรียนที่มีความพร้อม ความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกันเป็นรายคน

โดยเน้นการศึกษากินได้ การเรียนรู้เพื่อปากท้องเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ต่อยอดสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยจะทำงานร่วมกับลุง ป้า น้า อา ใน ชุมชน ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่า ผู้จัดการรายกรณี หรือ (Case Manager : CM) ของเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ที่กระจายอยู่ในทุกหมู่บ้านทั้ง 77 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนโครงการ Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล

โครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ให้โรงเรียนไปหาของ กสศ. จะเริ่มตั้งแต่ ตลอดเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2568 นี้ โดยร่วมมือกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินโครงการ Thailand Zero Dropout เคลื่อนขบวนคาราวาน จัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาและเปิดรับสมัครเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียน โดยเชิญชวนผู้สนใจทุกท่าน พบกันตามวันเวลาและสถานที่ ดังต่อไปนี้

วันที่ 22 เม.ย. 2568 เริ่มต้นกันที่ อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ วันที่ 24 เม.ย. 2568 พบกันที่ริมรางรถไฟเมืองขอนแก่น วันที่ 28 เม.ย. 2568 ที่เทศบาลตำบลลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง วันที่ 30 เม.ย. 2568 พบกัน ณ อบต.ถ้ำเจริญ อ.โซพิสัย จ.บึงกาฬ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะทำการเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 7-24 ปี จากทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบอื่นได้ ตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือหากจังหวัด และท้องถิ่นใดต้องการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสการศึกษาให้กับเด็กๆ ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. โทร. 02-079 5474 ต่อ 0 หรือ www.eef.or.th และ เฟซบุ๊กแฟนเพจ กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา