"รมว.เกษตรฯ" ลงพื้นที่ชัยภูมิ เดินหน้าผลักดัน ภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน
วันที่ 10 เม.ย.68 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขยายศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และข้าวคุณภาพดีแบบยั่งยืน ภายใต้โครงการสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมพบปะพี่น้องเกษตรกร มอบปัจจัยการผลิตจาก 11 หน่วยงาน และเยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 นายพงศ์กรณ์ กำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 6 และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ณ โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา ตำบลหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
กรมชลประทาน มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำละสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราขดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร โครงการอ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบด้วย การก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ 5 แห่ง การก่อสร้างฝาย 1 แห่ง และ การก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 1 แห่ง
ทั้งนี้ หากโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และเป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรของประชาชนในพื้นที่ เรียกได้ว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับชาวจังหวัดชัยภูมิได้ในระยะยาว
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เดินทางไปยังโรงเรียนแก่งคร้อวิทยา ต.หนองไผ่ อ.แก่งคร้อ เพื่อพบปะเกษตรกรและรับฟังปัญหาความต้องการในพื้นที่ พร้อมมอบปัจจัยการผลิตจาก 10 หน่วยงาน ในส่วนของกรมชลประทาน มีแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองสามขา ต.หนองไผ่ อ.แก่งคร้อ ประกอบไปด้วย เครื่องสูบน้ำ อัตราการสูบ 0.30 ลบ.ม./ วินาที และท่อส่งน้ำด้วยแรงดันความยาว 6,400 เมตร หากโครงการฯแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ประมาณ 2,000 ไร่ เป็นอีกหนึ่งโครงการ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน