หลังจากริเริ่มแนวคิดมาตั้งแต่สมัยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. ปัจจุบัน 'โครงการทางเดินลอยฟ้าย่านราชวิถี' ได้ฤกษ์ลงนามสัญญาก่อสร้าง เม.ย.นี้ จากการผลักดันในยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาออกแบบ สำรวจพื้นที่ รวมถึงต้องขอใช้พื้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ในการตั้งเสาทางเดินลอยฟ้า จึงต้องมีการพิจารณากันโดยละเอียดหลายรอบ จนกระทั่งวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบรับให้ความร่วมมือเรียบร้อยแล้ว เห็นตรงกันว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมาก เพราะปัญหาสำคัญจากเสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการและบุคลากรทางการแพทย์ คือการขาดพื้นที่ทางเดินที่เชื่อมต่อกัน พื้นที่สองฟากฝั่งริมถนนราชวิถี การก่อสร้างโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี จึงเป็นแนวทางที่ กทม.เตรียมดำเนินการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าให้แก่ประชาชน

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี ม.มหิดล กล่าวความร่วมมือในโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี ราชวิถี sky walk ว่า นอกจากด้านการแพทย์ ม.มหิดล มีผู้เชี่ยวชาญครอบคลุมด้านดนตรี ศิลปะ และสังคมศาสตร์ เพื่อวิจัยพัฒนาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก ให้เกิดนโยบายสาธารณะมากที่สุด ซึ่งโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี เป็นโครงการหนึ่งที่ ม.มหิดล อยากให้เกิดมากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน ผ่านการคิดวางแผนร่วมกับหลายหน่วยงานมากกว่า 10 ปี แต่โครงการก็ยังไม่เกิด วันนี้ได้รับความร่วมมือและการผลักดันโครงการจาก ผู้ว่าฯกทม. เป็นอย่างมาก เป็นพลังสำคัญ ได้รับการออกแบบจาก รศ.ดร.นิรมล เสริสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความสะดวกด้านการจราจร โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปและกลุ่มเปราะบางที่ลงรถไฟฟ้าสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถเดินเชื่อมต่อไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ในย่านถนนโยธีได้อย่างสะดวก หรือเรียกว่า 'ย่านนวัตกรรมโยธีราชวิถี' เนื่องจากเชื่อมต่อสถานศึกษา สถาบันด้านการแพทย์พยาบาลจำนวนมาก

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความเป็นมาและความสำคัญโครงนี้ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ในนโยบาย 'เมืองเดินได้เดินดี' ที่ผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ความสำคัญ ทางเท้าที่ดี จะช่วยเรื่องสุขภาพที่ดีของคนด้วย เพิ่มความปลอดภัยทางเท้า และสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ถนนราชวิถี เป็นย่านสำคัญด้านสาธารณสุข มีทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอด และหน่วยงานอื่นจำนวนมาก เพิ่มความสะดวกให้ทั้งบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่และผู้ที่เดินทางมาใช้บริการสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมถึงเชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าสถานนีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคตฝั่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่เนื่องจากทางเดินปัจจุบันกว้าง 1-3 เมตร มีจุดตัดบริเวณอาคารจำนวนมาก ไม่สะดวกต่อผู้เดิน กทม.โดยสำนักการโยธา จึงเห็นความสำคัญของทางเดินลอยฟ้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสัญจรทางเท้ามากขึ้น โครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือมากกว่า 12 หน่วยงาน โดยเฉพาะการเอื้อพื้นที่ในการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า ปัจจุบันโครงการนี้ กทม.ได้งบประมาณและประมูลงานแล้ว จะลงนามสัญญาต้นเดือน เม.ย.นี้ คาดว่าจะใช้เวลาผลักดันโครงการ 1 ปี

รศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการออกแบบโครงการนี้ว่า แนวคิดโครงการนี้ริเริ่มโดยคนในพื้นที่ และได้บรรจุใน 'แผนกรุงเทพฯ 250' หรือโครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมือง ในวาระครบรอบ 250 ปี ของกรุงเทพฯ ในปี 2575 สมัยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯกทม. เพื่อพัฒนาย่านให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางทางการแพทย์ และทางเดินลอยฟ้า เป็นเรื่องดีที่ได้รับการสานต่อโดยผู้ว่าฯกทม.ในปัจจุบัน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1.อำนวยความสะดวกกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ ตาบอด 2.เป็นย่านนวัตกรรมโยธีราชวิถี หมายความว่า มีการแลกเปลี่ยนของนวัตกร ดังนั้น ทางเดินลอยฟ้า สามารถเชื่อมต่อหน่วยงานต่าง ๆ มากกว่า 12 หน่วยงานในย่านนี้ได้อย่างสะดวก 3.รองรับด้านวิกฤต เช่น น้ำท่วม ประท้วง เพื่อให้การแพทย์เดินหน้าต่อได้ 4.ทางเดินลอยฟ้าช่วยฟื้นฟูย่านในมิติอื่น ๆ 5.ส่งเสริมสุขภาพสาธารณะ นอกจากนี้ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ยังเป็นศูนย์กลางการเดินทาง กิจกรรม และพาณิชยกรรม มีผู้คนในบริเวณประมาณวันละ 1 ล้านคน เฉพาะถนนราชวิถีมีผู้คนประมาณวันละ 1.2 แสนคน มีรถประมาณวันละ 3 แสนคัน มีที่จอดประมาณ 1 หมื่นที่ ตลอดถนนมีทางเข้าออกอาคาร 19 จุด ทำให้รถติด ไม่สะดวกต่อผู้เดินเท้า ผู้ใช้บริการย่านดังกล่าวร้อยละ 50 เป็นนักศึกษาผู้ทำงานในย่าน ร้อยละ 60 ใช้ขนส่งสาธารณะ

จากการสอบถามความเห็น 1,236 ชุด ปัญหาที่สะท้อนมากที่สุดคือเรื่องฝุ่น มลพิษ ซึ่งขัดแย้งกับย่านนวัตกรรมการแพทย์ รวมถึงเรื่องแดดร้อน ทางเท้าแคบ และความปลอดภัยบนถนน จึงอยากให้มีทางเดินเชื่อมต่อสะดวกสบาย ไม่มีสิ่งกีดขวาง มีร่มเงา ป้ายบอกทาง และที่นั่งพัก จึงเป็นที่มาในการออกแบบทางเดินลอยฟ้าจากรถไฟฟ้าสถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ ตรงไปเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า รพ.รามาฯ ตลอดจน รพ.ราชวิถี มูลนิธิคนตาบอด เพราะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ในระยะที่ 2 จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และยังมีการวางแผนออกแบบที่จอดรถ แหล่งการค้า เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะด้านอื่น พัฒนาซอยต่าง ๆ ครอบคลุมมิติอื่น ๆ ด้วย

“ความยากของโครงการคือ ต้องมีการสละพื้นที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อไม่กีดขวางทางเท้าด้านล่างที่มีความกว้างไม่ถึง 3.5 เมตร จึงให้เวลานานในการดำเนินการ มีการประชุมติดตามร่วมกันจำนวนมาก ปัจจุบันได้รับการตอบรับให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว” รศ.ดร.นิรมล กล่าว

สำหรับทางเดินลอยฟ้าดังกล่าว มีเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงถนนพระราม 6 เขตทางฝั่งทิศใต้โรงพยาบาลราชวิถี เริ่มจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - โรงพยาบาลราชวิถี - สถาบันโรคผิวหนัง - สถาบันสุขภาพเด็กฯ - คณะสาธารณสุขศาสตร์ - โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล - องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก - มูลนิธิช่วยคนตาบอด - โรงพยาบาลรามาธิบดี - สิ้นสุดที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีราชวิถี จุดประสงค์ของโครงการ เพื่อความปลอดภัยของคนเดินเท้า ลดการเจอมลพิษ สะดวกรวดเร็ว สนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ และเชื่อมกลุ่มอาคารสถาบันและโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มโอกาสแบ่งปันทรัพยากร รวมถึง มีทางเดินกว้างขึ้นและปลอดภัย มีหลังคากันแดดกันฝน