เมื่อปรากฏการณ์การช่วงชิงนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น จีน เวียดนาม เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯต่างมีกลยุทธ์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐ ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ดำเนินการออกมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนและสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกทั้งสงครามการค้าที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้ามาเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรอง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อภาคการค้าของไทยและอาจจะกระทบถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต

แต่ทว่าในเบื้องต้นเมืองไทยยังมีปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้ผ่านไตรมาส 2 ไปได้อย่างปลอดโปร่ง ด้วยแผนการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลในช่วงโลว์ซีซั่นที่จะออกในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2568 และในระยะสั้นที่จะถึงก็จะมี เทศกาลสงกรานต์ หรือ Maha Songkran World Water Festival 2025 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มหาสงกรานต์ มหาสนุก” ในพื้นที่ 17 จังหวัดทั่วประเทศ 5 เมืองอัตลักษณ์ 12 เมืองน่าเที่ยวจาก 4 ภาค และกรุงเทพฯ อีก 4 จุดใหญ่ พร้อมส่งเสริม Soft Power ผ่านบทเพลงสงกรานต์ 20 ภาษา

ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศนั้นพบว่า ทั่วโลกมีการเปิดเส้นทางการเชื่อมต่อสายการบินมากขึ้น นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางได้หลายเส้นทาง นอกจากนี้กระบวนการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมาตรการวีซ่าฟรีและการยกเว้นแบบ ตม.6 สำหรับบางประเทศที่ยังคงทำเให้เกิดความสะดวกรวดเร็วยของกระบวนการเดินทางเข้า-ออกประเทศ และเอื้อให้นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศทั่วโลกเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้มากขึ้น

น่าจะกระทบกับไทยในระยะสั้น

ในเรื่องนี้ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) เมื่อเดือนธันวาคม 2567 ระบุว่า หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีดีมานด์ (อุปสงค์) การเดินทางทางอากาศเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก และแนวโน้มนี้ก็สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายของ“โดนัลด์ ทรัมป์”น่าจะกระทบกับไทยในระยะสั้นๆ ซึ่งทางบริษัทได้เดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายเพิ่มความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน จึงทำให้ปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลกเป็นการลดปัญหา และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ

 

โดยบริษัทจะมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและรายได้ โดยคาดการณ์ส่วนแบ่งช่องทางการขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เป็นสัดส่วน 28% และช่องทางอื่น 72% (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) โดยเป็นการขายผ่านช่องทางเชื่อมต่อตรงผ่านระบบ 32% ตลาดภายในประเทศ 18% และตลาดต่างประเทศ 50%

ทั้งนี้จากคาดการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังมีความต้องการสูงและยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งได้วางแผนการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกออกเฉียงใต้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศในแถบละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันบริษัทมีสำนักงาน GSA รวมทั้งสิ้น 26 แห่งทั่วโลก

เพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศ

ด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า  ไทยแอร์เอเชีย น่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 15% ในปี 2568 นี้ โดยจะมีการรักษาส่วนแบ่งตลาดเส้นทางในประเทศที่ 40% สูงสุดที่เคยได้มา และเติบโตจากฐานส่วนแบ่งตลาด 32% เมื่อปี 2562 และวางแผนเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางบินภายในประเทศเป็น 65% จาก 60% เมื่อปีที่แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนสูงในบางตลาด

 

พร้อมกันนี้ไทยแอร์เอเชียจะปรับแผนเส้นทางการบินสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนเหลือในสัดส่วนประมาณ 17% ของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด จากปี 2562 (ก่อนโควิด-19) ที่มีสัดส่วนถึง 30% โดยโฟกัสไปที่ตลาดอื่นๆ เช่นตลาดอินเดีย มาเลเซีย ไต้หวัน รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะตลาดอินเดียจะมีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 18% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียงแค่ 8% ขณะที่ตลาดเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วน 15% เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่เพิ่มจำนวนเที่ยวบินเป็นสัดส่วน 49% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีสัดส่วน 46%