วันที่ 9 เม.ย. 68 เวลา 13.30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินงานความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมมอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย และนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ย้ำ ปภ. ต้องทำงานครอบคลุมทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย เชื่อมโยงทุกข้อมูลอย่างเป็นระบบ กำชับทำงานเชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยมีนายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริการกรม ปภ. ส่วนกลาง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย รวมถึงหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เข้าร่วมประชุม ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปีนี้ประเทศไทยได้เผชิญกับสาธารณภัยที่ถี่และมีความรุนแรงมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ปภ.ได้บริหารจัดการสาธารณภัยที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งภัยตามวงรอบการเกิดภัย เช่น น้ำท่วม อุบัติเหตุทางถนนช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ฝุ่น PM 2.5 และภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง และภัยที่อุบัติขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวและไม่ได้เตรียมการล่วงหน้าอย่างเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องเตรียมพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา จะรอให้เกิดภัยขึ้นแล้วดำเนินการไม่ได้ จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและทำงานเชิงรุกและรับอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย
“สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดถือเป็นหน่วยงานในระดับพื้นที่ในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในจังหวัด ดังนั้น หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสาธารณภัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ภัยได้แบบครอบคลุมครบทั้งวงจรการเกิดภัย ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย สามารถลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการสาธารณภัยได้อย่างรวดเร็ว และช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที" นายภาสกร กล่าว
ในส่วนของเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้กำหนดช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2568 เพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด ขอให้ ปภ. จังหวัด ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถิติในเชิงตัวเลขเพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยให้มุ่งลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ รวมถึงต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน รวมถึงการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการขับรถอย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
“ขอให้ ปภ.จังหวัด ใช้ข้อมูลสถิติในการวางแผนกำหนดแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เช่น พิจารณาว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด ช่วงเวลาใดเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการลดจำนวนตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงต้องสนับสนุนข้อมูลและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่มีประสิทธิภาพและทำได้จริงให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาสั่งการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้“ นายภาสกร กล่าว
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ในระยะนี้ขอให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะการสำรวจความเสียหาย เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือตามระเบียบโดยเร็ว ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 เม.ย. 68) ปภ. ได้หารือกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางในประเด็นการขอปฏิบัตินอกเหนือหลักเกณฑ์ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้มีความเหมาะสมเพียงพอต่อความจำเป็น และการขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีแผ่นดินไหว เพื่อเป็นเงินเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ค่าเยียวยากรณีบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ และค่าเยียวยากรณีบาดเจ็บสาหัส ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ
สำหรับการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) คาดว่าจะมีสถานการณ์ต่อไปอีกจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน แต่อาจมีความเบาบางลงเนื่องจากมีพายุฤดูร้อนเป็นระยะ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฝุ่นที่สะสมอยู่ในอากาศได้ โดย ปภ. ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) ได้สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมนักบิน ทีมช่างประจำอากาศยาน และเจ้าหน้าที่กู้ภัยบนอากาศยาน ประจำการ ณ กองทัพภาคที่ 7 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทิ้งน้ำดับไฟป่า ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
“ขอให้ผู้ปฏิบัติงาน ปภ. ทุกคนตระหนักเสมอว่าภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าปกติและยากต่อการคาดการณ์ ปภ. ต้องปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ต้อง prepare for the worst ปรับแผนการดำเนินการเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยที่มีขนาดใหญ่และมีความรุนแรง จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับต่าง ๆ และแผนเผชิญเหตุในภัยขนาดใหญ่ไว้ก่อน เพื่อเวลาที่เกิดภัยขนาดใหญ่ขึ้นจะได้สามารถรับมือได้ได้อย่างเป็นระบบ แต่หากเป็นภัยขนาดเล็กก็จะได้บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว เพราะ ปภ. ได้เตรียมพร้อมในการบริหารจัดการทุกสถานการณ์ภัยด้วยองค์ความรู้ ทรัพยากร และประสบการณ์ที่มี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย” นายภาสกร กล่าว