มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน เปิดเวทีการประกวดสุดเข้มข้น “DPU Hackathon : AI Adventure” เมื่อวันที่ 11-12 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาและสร้างสรรค์ รวมถึงยกระดับนวัตกรรมทางธุรกิจให้เป็นจริง โดยมี ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ ให้เกียรติมอบรางวัลแก่ทีมที่ได้รับชัยชนะ

สำหรับผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีม “รมย์ไทย” สามารถคว้าชัยชนะอันดับ 1 ไปครอง ด้วยโครงการ “รมย์ไทย ยาดมสมุนไพรสำหรับคนยุคใหม่” ซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ยาดมสมุนไพรที่ปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัย และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ส่วนรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม “พระกระโดดกำแพง” กับโครงการ WolffCha ชาผำ Super Food Nutri-Tea และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม “4 Angies” กับโครงการ SaToo มูทั้งทีมูให้เดิ้น มูแบบรักษ์โลก ขณะที่รางวัลชมเชยพิเศษ ได้แก่ ทีม “อะไรก็อ้อย” กับโครงการ SLAB Coal ถ่านไฟไร้ควันไร้กลิ่น จากใบอ้อยและใบข้าวโพด

ผศ.ไพรินทร์ ชลไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน กล่าวเปิดงาน DPU Hackathon โดยเน้นย้ำว่าในปีนี้เป็นปีที่ 8 ของการจัดกิจกรรม ซึ่งมีธีมหลักคือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการทำงาน เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและค้นหาไอเดียใหม่ๆ โดยการใช้ AI เป็นเครื่องมือในการพัฒนาแนวคิดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

นอกจากนี้ ผศ.ไพรินทร์ ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายหลักของกิจกรรมในครั้งนี้คือ การให้นักศึกษานำประสบการณ์และความรู้จากห้องเรียนมาทดลองใช้จริงในการพัฒนาแนวคิดธุรกิจของตนเอง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาในการทำงานในโลกยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

"ในงานนี้ เราหวังให้ทุกทีมใช้เครื่องมือ AI เพื่อสร้างไอเดียธุรกิจที่สามารถนำไปสู่การเติบโตและสำเร็จได้จริง และสิ่งที่เห็นในปีนี้คือนักศึกษานำ AI มาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมในการพัฒนาความคิด และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ" ผศ.ไพรินทร์ กล่าว

ผศ.ไพรินทร์ ยังเน้นย้ำถึงเป้าหมายต่อไปของโครงการคือการผลักดันนักศึกษาที่มีศักยภาพไปสู่เวทีระดับประเทศ เช่น Startup Thailand เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพของตนเอง และเติบโตในวงการธุรกิจอย่างมั่นคง โดยทางมหาวิทยาลัยจะมีทีมงานที่คอยให้คำแนะนำ พร้อมทั้งดูแลและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะช่วยให้นักศึกษาเติบโตและก้าวสู่ความสำเร็จในธุรกิจของตนเอง

"การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงแค่ทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงในการพัฒนาธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ซึ่งจะทำให้พวกเขามีความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ" ผศ.ไพรินทร์ อธิบาย

ตลอดสองวันที่ผ่านมา นักศึกษาได้เรียนรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายด้านที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะการใช้ AI ในธุรกิจ ได้แก่ 1.AI for Creativity & Productivity โดยคุณสุรศักดิ์ ป้องศร โปรดิวเซอร์และผู้กำเนิดจักรวาลไทบ้าน เดอะซีรีส์ ซึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยสร้างสรรค์ผลงานและเพิ่มประสิทธิภาพในงานต่างๆ เช่น การเขียนบท การออกแบบกราฟิก และการผลิตสื่อ นอกจากนี้ คุณสุรศักดิ์ยังได้เน้นย้ำถึงศักยภาพของ AI ในการเป็นผู้ช่วยในการเล่าเรื่อง (storytelling) และในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

2.Workshop: Prompt Engineering for Hackathon โดย คุณฐาปกรณ์ จำปาใด หัวหน้าแผนกสื่อนวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน สถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิต DPU เพื่อฝึกเทคนิคการออกแบบคำสั่ง AI สำหรับนวัตกรรมธุรกิจ และยังได้เปิดโลก AI ให้แก่นักศึกษาที่ไม่ได้เน้นเพียงการสอนใช้ AI แต่ให้ความสำคัญกับ “การรู้จักตัวเอง” และ “รู้จักเพื่อนร่วมทีม” เพื่อที่จะสามารถนำ AI ไปใช้พัฒนาตนเองและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.AI in Business Hacking โดย อาจารย์นิติ มุขยวงศา รองคณบดีและหัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาดและการสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี DPU ได้อธิบายถึงการนำ AI มาใช้ในการพัฒนา Startup รวมถึงการทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้เครื่องมือBusiness Model Canvas (BMC) และ Value Proposition Canvas (VPC) โดย VPC ใช้เพื่อช่วยในการเข้าใจลูกค้าและสร้างคุณค่าให้กับสินค้า ขณะที่ BMC เป็นโมเดลธุรกิจที่ช่วยทดสอบว่าโมเดลไหนจะเหมาะสมและตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด ซึ่งทั้งสองเครื่องมือนี้ช่วยให้สามารถทดสอบและปรับแก้ธุรกิจได้ในช่วงเริ่มต้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในตลาด โดยสามารถทดลองและปรับแก้ได้บนกระดาษก่อนนำไปใช้จริง

4.Finance for Entrepreneurs โดย ผศ. ดร.กุลบุตร โกเมนกุล ผู้เชี่ยวชาญ Finance Technology และอาจารย์ประจำสาขาการเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีการเงิน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี DPU ซึ่งได้ให้ความรู้ด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยเจาะลึกกลยุทธ์ทางการเงินสำหรับ Startup และธุรกิจเทคโนโลยี รวมถึงเรื่องต้นทุน การบริหารการเงิน และมุมมองจากฝั่งนักลงทุน ผศ.ดร.กุลบุตร ยังได้เน้นความสำคัญของการวางแผนการเงิน การประเมินต้นทุนและรายได้ การพยากรณ์รายได้เพื่อดึงดูดนักลงทุน และการทำความเข้าใจงบประมาณและการจัดการกระแสเงินสด

ภายในงานยังมีการ Pitching & Final Presentation โดยนักศึกษาได้มีโอกาสนำเสนอโครงงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ คุณพิมพ์ประไพ ธีระชีพ ผู้เชี่ยวชาญทางทรัพย์สินทางปัญญาและการเป็นผู้ประกอบการ และอาจารย์ธัญญภัสร์ ภูมิทรัพยเวทย์ ผู้ชำนาญการ ฝ่ายนวัตกรรมหลักสูตรและการสอน DPU และคุณฐาปกรณ์ จำปาใด ซึ่งได้ให้คำแนะนำในการนำเสนอโครงงานเพื่อพัฒนาธุรกิจต่อไป

นายจอมปราชญ์ รักโลก นักศึกษาปี 3 วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี DPU ตัวแทนจากทีม "รมย์ไทย" ผู้ชนะเลิศ เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังจากทราบผลการแข่งขันว่า ทีมของเขาไม่คาดหวังว่าจะได้รับรางวัล เนื่องจากเชื่อว่าทุกทีมมีผลงานที่ดีพอๆ กัน แต่เมื่อทราบผล พวกเขารู้สึกตกใจและดีใจอย่างมาก ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการสะท้อนถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันเป็นทีม และการพัฒนาไอเดียธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง

ตัวแทนจากทีม “รมย์ไทย” ยังได้สะท้อนถึงกระบวนการที่นำพาทีมไปสู่ความสำเร็จ โดยกล่าวว่า "การวิเคราะห์การลงทุนและความเป็นไปได้ของธุรกิจเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้เรามีภาพธุรกิจที่ชัดเจน และการคำนึงถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายก็เป็นสิ่งที่ทีมให้ความสำคัญอย่างมาก" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาไอเดียธุรกิจจนเป็นที่ยอมรับในงานนี้

จอมปราชญ์ ยังกล่าวถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะคำแนะนำจากวิทยากร อาจารย์ และเพื่อนๆ ในการพัฒนาไอเดีย รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ "ยาดม" เพื่อให้มีคุณภาพที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ อาจารย์นิติ ที่ได้แนะนำเกี่ยวกับกลิ่นของผลิตภัณฑ์ว่า “กลิ่นของยาดมดีและมีเอกลักษณ์ แต่เราจะทำยังไงให้ลูกค้าเข้าใจสินค้าของเราและอยากซื้อ”

นอกจากนี้ ทีม "รมณย์ไทย" ยังได้รับประสบการณ์ที่มีค่าในการใช้ AI ในงานที่มีเวลาจำกัด โดยการได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการ Prompt AI ซึ่งทำให้ทีมสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโปรเจกต์ และได้เรียนรู้ในมุมมองด้านการเงินที่ช่วยให้มองธุรกิจในทางที่เป็นจริงและสามารถเข้าถึงนักลงทุนได้

"การนำเสนอให้กระชับและตรงประเด็นเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนอย่างมาก เพราะการทำให้ผู้ฟังเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอในเวลาจำกัดคือ กุญแจสำคัญที่ทำให้การนำเสนอประสบความสำเร็จ การใช้ AI ในการออกแบบและพัฒนาไอเดียทำให้เราเห็นประสิทธิภาพในการทำงานเร็วขึ้นมาก และเราเชื่อว่านี่คือทักษะที่จำเป็นในการทำงานจริงในอนาคต" จอมปราชญ์ กล่าว

งาน DPU Hackathon: AI Adventure ประจำปีนี้ ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะด้าน AI และธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองผิด-ถูกในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และได้ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม รวมถึงสร้างเครือข่ายกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ พร้อมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาก่อนที่จะก้าวสู่โลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่ AI จะช่วยเติมเต็ม

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับ DPU Hackathon 2026 www.dpu.ac.th

​​​​​​​