วันที่ 9 เม.ย.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน เตรียมเดินทางไปยังกระทรวงการคลังในวันที่ 10 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. เพื่อจะยื่นหนังสือถึง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ปัญหาดุลการค้าสหรัฐฯ เรียกร้องให้พิจารณาผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูจากสหรัฐอเมริกาอย่างรอบด้าน จากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อแสดงความขอบคุณ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ยืนหยัดปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรไทย

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจากทั่วประเทศเดินทางไปกระทรวงการคลัง เพื่อจะขอชี้แจงข้อเสนอของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีต่อท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ให้พิจารณาใช้นโยบายนำเข้า “พืชวัตถุดิบอาหารสัตว์” ที่ไทยขาดแคลนหรือผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลืองแทนการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน ซึ่งจะช่วยเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯ ได้ถึงปีละ 84,000 ล้านบาท น่าจะเป็นข้อเสนอที่คุ้มค่าสำหรับการเจรจากับทางสหรัฐ สร้างประโยชน์ร่วมกันแก่สองประเทศ ที่สำคัญช่วยปกป้องอุตสาหกรรมและห่วงโซ่การผลิตสุกรไทยที่มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเนื้อหมูเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ การอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั้งระบบ ซึ่งภาวะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2564 จากการลักลอบนำเข้าสุกรอย่างหนัก จนทำให้เกษตรกรหลายครัวเรือนจำต้องสูญเสียอาชีพไป

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารที่น่ากังวล เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสุกร ขณะที่ประเทศไทยมีข้อห้ามชัดเจนเกี่ยวกับการใช้สารดังกล่าว การนำเข้าอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปที่มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดง จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับประกอบการตัดสินใจของทีมเจรจาฯที่จะไปเสนอทางเลือกต่อสหรัฐฯ

"เราขอความเห็นใจจากรัฐบาลให้ช่วยปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทย และเรียกร้องให้คณะเจรจาฯ พิจารณาไตร่ตรองผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ ประเทศไทยไม่ควรเอาอุตสาหกรรมสุกรมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทและเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า 2 แสนครอบครัวไปแลก" นายสิทธิพันธ์กล่าว

ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรและเกษตรกรทั่วประเทศ ได้ส่งกำลังใจให้รองนายกรัฐมนตรีและคณะเจรจาในการเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯ โดยหวังว่าจะสามารถรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย และบรรลุข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะผู้แทนเกษตรกรจะเดินทางไปเข้าพบ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงความขอบคุณที่ท่านและกระทรวงเกษตรฯ แสดงจุดยืนชัดเจนในการยืนอยู่เคียงข้างและปกป้องผลประโยชน์ของภาคเกษตรของประเทศ ซึ่งจุดยืนนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรในการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคชาวไทยอย่างยั่งยืนได้ต่อไป