สศอ.ดำเนินโครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หวังให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ทันสมัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือเชิงวิชาการระหว่างสถาบันยานยนต์และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของภาครัฐในการส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

วันที่ 9 เมษายน 2568 นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานฝ่ายพลเรือนและหน่วยงานฝ่ายกลาโหมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชนมีข้อมูลอุตสาหกรรมที่สำคัญและทันสมัย ใช้ในการกำหนดนโยบายและดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยุทโธปกรณ์และอุปกรณ์ทางการทหารในประเทศ ทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้าและพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม

โดย สศอ.ได้ร่วมมือกับสถาบันยานยนต์จัดกิจกรรมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านวิชาการระหว่างสถาบันยานยนต์และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีพลเอก วัฒนา ฉัตรรัตนแสง ผู้อำนวยการศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร และนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บทบาทของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย” โดยผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พร้อมร่วมแสดงความยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือเชิงวิชาการระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและสถาบันยานยนต์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา

“อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสองทาง (Dual Use Technology) กล่าวคือ เป็นประโยชน์ทั้งด้านความมั่นคงและสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ และสนับสนุนอุตสาหกรรมเดิมของไทยในเชิงพาณิชย์ได้ ด้วยความสำคัญนี้ จึงต้องขับเคลื่อนผลักดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นายภาสกรกล่าว

#สศอ #สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม #ข่าววันนี้ #ปฏิรูปอุตสาหกรรม #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์