นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยแนวทางบริหารจัดการถังดับเพลิงของกรุงเทพมหานครว่า งบประมาณภาพรวม กทม.มีแผนแจกจ่ายถังดับเพลิงให้ชุมชน ประกอบด้วย ปีงบประมาณ 2566 ได้รับ 9,979 ถัง ปี 2567 ได้รับ 27,611 ถัง ปี 2568 จัดหาเพิ่ม 18,607 ถัง และปี 2569 จัดหาเพิ่ม 17,987 ถัง โดยปัจจุบัน ได้รับรายงานว่า มีการแจกจ่ายถังดับเพลิงยกหิ้วกระจายไปในชุมชนทั้ง 50 เขต แบ่งเป็น ชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับครบตามเกณฑ์กำหนด 1,219 ถัง ประกอบด้วย ชุมชนแออัด 632 ถัง ชุมชนเมือง 508 ถัง ชุมชนชานเมือง 61 ถัง ชุมชนอาคารสูง 18 ถัง

ส่วนที่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ 786 ถัง ได้แก่ ชุมชนอาคารสูง 65 ถัง ชุมชนชานเมือง 290 ถัง ชุมชนเมือง 431 ถัง โดยแนวทางจัดการถังดับเพลิงแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ ถังอายุน้อยกว่า 12 ปี สามารถเติมสารเคมีได้ ส่วนถังอายุมากกว่า 12 ปี แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.หากจำเป็นต้องใช้งาน ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) และหน่วยงานเอกชน หากผ่านมาตรฐานจะนำกลัยไปเติมสารเคมี แต่หากไม่ผ่าน จะทำลายหรือจำหน่ายต่อไป 2.กรณีไม่จำเป็นต้องใช้งาน ให้สำนักงานเขตจำหน่าย โดยถ่ายภาพ QR Code ส่งให้ สปภ.ดำเนินการต่อ และสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองดำเนินการปรับปรุงข้อมูลใน BKK Risk Map ต่อไป

นอกจากนี้ กทม.ได้รวบรวมถังดับเพลิงสภาพไม่พร้อมใช้งานจากทั้ง 50 เขต โดยแบ่งเก็บไว้ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม จำนวน 20,831 ถัง ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ จำนวน 11,654 ถัง และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม เขตสายไหม จำนวน 6,888 ถัง อยู่ระหว่างกระบวนการคัดแยกและขายทอดตลาด โดยมอบหมายให้ สปภ. และสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) ร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้สามารถนำพื้นที่เก็บจัดเก็บถังดับเพลิงดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการ สปภ. กล่าวถึงแนวทางจัดการถังดับเพลิงสภาพไม่พร้อมใช้งานทั้งหมดว่า ถังดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้งที่สภาพไม่พร้อมใช้งาน ไม่สามารถเติมสารเคมีได้ เนื่องจากความกรอบของสาย ความบวมของถัง ชำรุดผุกร่อน เกิดสนิมที่ถัง รวมถึงถังดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ที่ติดตั้งอยู่ตามชุมชนแออัด ชุมชนเมือง ชุมชนชานเมือง สถานที่ราชการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง 50 สำนักงานเขต จะถูกนำสารเคมีที่บรรจุอยู่ในถังดับเพลิงออก จากนั้นนำมาจัดเก็บไว้ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เขตหนองแขม ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม เขตสายไหม

โดย สปภ.และ สสล. จะร่วมกันคัดแยกถังดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้งที่จัดเก็บไว้ ซึ่งบริเวณอาคารงานซ่อมบำรุง ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ มีการนำถังดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้งมาเก็บไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จำนวน 11,654 ถัง โดยคัดแยกออกเป็น 2 ประเภท คือถังดับเพลิงที่เป็นของกรุงเทพมหานคร และถังดับเพลิงของหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อส่งมอบให้ สสล.ดำเนินการในขั้นตอนการจำหน่าย ตลอดจนเพื่อนำพื้นที่จัดเก็บมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานต่อไป

จากการคัดแยกถังดับเพลิงยกหิ้วที่จัดเก็บไว้ภายใน ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ จำนวน 11,654 ถัง เป็นถังดับเพลิงยกหิ้วสีแดง ส่วนที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ประกอบด้วย ถังดับเพลิงยกหิ้วสีแดง จำนวน 20,532 ถัง และถังดับเพลิงยกหิ้วสีเขียว จำนวน 299 ถัง รวมทั้งสิ้น 20,831 ถัง

ส่วนภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม เป็นถังดับเพลิงยกหิ้วสีแดง จำนวน 6,888 ถัง โดยคัดแยกถังดับเพลิงออกเป็น 2 ประเภท คือถังดับเพลิงที่เป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำทะเบียนพัสดุและยุบสภาพ จากนั้นจึงนำไปขายทอดตลาด ส่วนถังดับเพลิงของหน่วยงานอื่น จะส่งมอบให้ สสล.ดำเนินการทำลายตามหลักเกณฑ์ของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจึงจะพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานสูงสุดต่อไป

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการปรับปรุงข้อมูลถังดับเพลิงในพื้นที่ 50 เขตว่า ยังมีถังดับเพลิงที่สำนักงานเขตต้องบันทึกในระบบ GIS เพิ่มประมาณ 11,241 ถัง โดยให้สำนักงานเขตตรวจสอบและบันทึกข้อมูลถังดับเพลิงในระบบให้ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการใช้งานและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง สำนักงานเขตคลองเตย ให้ติดคิวอาร์โค้ดที่ถังดับเพลิงทุกถัง ทั้งถังในความรับผิดชอบของ กทม. และเอกชน เนื่องจากในชุมชนจะมีถังดับเพลิงจากเชลล์ที่ติดตั้งไว้ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์ โดยเชลล์จะตรวจสอบความเรียบร้อยของถังดับเพลิงที่นำมาติดตั้งให้เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งการติดคิวอาร์โค้ดจะช่วยระบุที่ตั้งของถังดับเพลิงลงในแผนที่จุดเสี่ยงอัคคีภัยเผยแพร่ลงเว็บไซต์ สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอย่างสะดวก

นอกจากนี้ กทม.ยังร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญร่วมสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนวิเคราะห์สภาพปัญหา รวมถึงให้ข้อแนะนำ เพื่อให้คณะทำงานนำข้อมูลไปดำเนินงานในมิติต่าง ๆ อาทิ การติดตั้งถังดับเพลิงในย่านชุมชน การตรวจสายไฟฟ้า และการพิจารณาเส้นทางอพยพรวมถึงการเตรียมซ้อมแผนเผชิญเหตุในย่านชุมชนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมตรวจสอบประปาหัวแดง สายฉีด และแรงดันน้ำให้พร้อมใช้งาน