รัฐบาลล้างไพ่ธุรกิจร้าง ! เร่งถอนทะเบียน “บริษัทร้าง” ปี 2568 ปรับฐานข้อมูลนิติบุคคลให้โปร่งใส ปิดช่องโกงประชาชน
วันที่ 9 เม.ย.68 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ เตรียมสำรวจนิติบุคคลที่เข้าข่ายจะถอนทะเบียนร้าง ประจำปี 2568 โดยการถอนทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท) ร้าง คือการที่นายทะเบียนขีดชื่อนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท) ออกจากทะเบียน
เนื่องจากไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานใด ๆ รวมทั้งไม่ได้ยื่นงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือบางรายจดทะเบียนเลิกแล้ว แต่ไม่ยื่นรายงานการชำระบัญชีต่อนายทะเบียน หรือไม่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้น ทำให้ฐานข้อมูลนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามจริง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเสียหายจากการหลอกลวงสภาพอันแท้จริงของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท กฎหมายจึงให้อำนาจนายทะเบียนถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ทิ้งร้างหรือเลิกประกอบกิจการและไม่ดำเนินกิจการแล้วให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียนแล้ว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นจะสิ้นสภาพนิติบุคคลทันที แต่ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้เป็นหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการและผู้ถือหุ้น ยังมีอยู่เหมือนเดิม และเรียกบังคับได้เสมือนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นยังไม่ได้สิ้นสภาพนิติบุคคล แต่หากต้องการให้ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทร้างนั้นกลับคืนสู่ทะเบียน ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้จดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทออกจากทะเบียน
“3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนิติบุคคลที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนและมีสถานะร้างแล้วรวมทั้งสิ้น 89,856 ราย โดยแบ่งเป็นปี 2565 จำนวน 27,915 ราย ปี 2566 จำนวน 29,006 ราย และปี 2567 จำนวน 32,935 ราย ทำให้ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ยังดำเนินการอยู่รวมทั้งสิ้น 928,292 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2568) โดยการดำเนินการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบทะเบียนนิติบุคคล และป้องกันการนำชื่อบริษัทที่ไม่มีตัวตนไปใช้หลอกลวงผู้อื่น
“รัฐบาลมุ่งมั่นดูแลผลประโยชน์ประชาชน และเดินหน้าสร้างระบบนิติบุคคลที่ทุกฝ่ายสามารถเชื่อถือและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง การดำเนินการถอนทะเบียนบริษัทร้างครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับความโปร่งใสและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย การมีฐานข้อมูลนิติบุคคลที่ถูกต้องและทันสมัย จะช่วยลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกง สร้างสภาพแวดล้อมธุรกิจที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการลงทุนในอนาคต” นางสาวศศิกานต์ กล่าว