วันที่ 8 เม.ย.68 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่หน้าศาลากลาง จ.จันทบุรี ชาวสวนทุเรียนใน จ.จันทบุรี และภาคตะวันออก ที่โดยการนำของ นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา / นายอุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี ประหอการค้า จ.จันทบุรี ร่วมกับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน สมาคมทุเรียน ชาวสวน นับพันคน รวมตัวกันมายื่นหนังสือต่อ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.จันทบุรี เพื่อให้ทางจังหวัดส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาล เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาในการส่งออกทุเรียน
โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อประกอบด้วย ขอให้ใช้มาตรฐานการตรวจสอบสารปนเปื้อน BY2 แบ่งเป็น 2 ค่า คือ การตรวจที่เนื้อทุเรียนให้ตรวจแบบไม่พบ(Not Detected) ได้ แต่ในส่วนที่เปลือกขอให้มีเกณฑ์ขั้นต่ำที่รับได้ คือ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ให้ยกเลิกการระงับใบรับรองห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เนื่องจากตามหลักสากล ห้องปฏิบัติการจะรับรองเฉพาะผลการตรวจวิเคราะห์ ในลูกทุเรียนที่เอามาตรวจเท่านั้น ถ้าตรวจพบสารที่ควบคุมในตู้หรือในผลทุเรียนลูกอื่นก็ไม่ได้เอาตรวจ ควรระงับใบ DOA หรือ หนังสือสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชของโรงคัดบรรจุที่พบเจอเท่านั้น รวมถึงขอให้พิจารณาเพิ่มห้องปฏิบัติการในพื้นที่ปลูกทุเรียน ให้เพียงพอกับผลผลิต เพื่อสร้างควานมั่นใจในระบบการตรวจสอบให้ทันต่อเหตุการณ์
และ 3 เนื่องจากการตรวจพบสารตกค้างในทุเรียนไทยมีจำนวนน้อยมาก จึงขอให้ลดจำนวนการตรวจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ด่านชายแดน โดยควรกำหนดสัดส่วนการสุ่มตรวจน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตที่ส่งออก เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าเสียหายจากการขนส่งและเสียโอกาสทางการค้า
ขณะที่ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.จันทบุรี กล่าวหลังจากรับหนังสือว่า ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ประชุม วางแผนการป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดจากความล่าช้าในการส่งออกทุเรียน จากการตรวจสารตกค้าง BY2 ในผลผลิตทุเรียนที่จะส่งออกไปจีน และทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเร่งหาทางเจรจาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรจะออกสู่ตลาดหลังกลางเดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป
ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ทุเรียนอ่อน ทางจังหวัด มีมาตรการและมีชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกันกับทุเรียนสวมสิทธิ์ที่อาจจะมีการลักลอบนำเข้าจากที่อื่นมาส่งออกที่จันทบุรี ซึ่งหากพบก็จะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดต่อไป
ด้าน นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา ตัวแทนเกษตรกรสวนทุเรียน กล่าวว่า 3 ปัญหาหลัก คือ ปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย ปัญหาการส่งออกทุเรียนไทยไปต่างประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไม่เป็นรูปธรรม จึงทำให้เกิดข้อกังวลว่า ปัญหาทุเรียนอ่อน จะทำให้ราคาทุเรียนภาคตะวันออกดิ่งลงเหว และการนำทุเรียนเพื่อนบ้าน
มาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย อาจจะทำให้สวนในภาคตะวันออก ถูกระงับ GAP เช่นเดียวกันกับที่ จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทำงานอย่างเข้มแข็ง เชื่อว่า จะแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนทุเรียน และทุเรียนสวมสิทธิ์ในภาคตะวันออก ขณะนี้ได้