รองประธานผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยเขต 12 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาแล้งซ้ำซาก เล็งส่วนราชการสนับสนุน ผลักดันโครงการเจาะบ่อบาดาลเติมน้ำแก้แล้ง เชื่อมั่นศักยภาพพื้นที่ภาคอีสานตอนบนน้ำใต้ดินเพียบ กำชับทุกหน่วยงานรับมือปัญหาภัยแล้งในอนาคต
วันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมศูนย์เรียนรู้เทศบาลตำบลกลางหมื่น อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองประธานผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยเขต 12 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยนางศิริลักษม์ เหมาะพิชัย ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาภัยแล้ง และการเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้ง โดยมีนายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นางสาวสุภลักษณ์ บุญเกิด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.กาฬสินธุ์ นายเทียรชัย ประเมลัย ผู้แทนโคงการชลประทานกาฬสินธุ์ นายอดิสร วิทูรศิลป์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ สิบเอกนพดล สำราญพงษ์ รองปลัดเทศบาลตำบลกลางหมื่น นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ นายสุระเดช เคราะห์ดี ที่ปรึกษานายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชน ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่
จากนั้น นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองประธานผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยเขต 12 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาภัยแล้ง และการเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ที่หนองอีสานเขียว บ้านหนองหัวช้าง ต.กลางหมื่น อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค บริโภคประจำตำบลกลางหมื่น โดยผ่านนวัตกรรมระบบประปาป๊อกแท็งค์ โดยสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว มองเห็นสันดอนผุดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากประสบภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันหลายเดือน รวมทั้งประสบปัญหาของท่อระบายน้ำที่ชำรุดเสียหายอีกด้วย
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองประธานผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยเขต 12 กล่าวว่า จากการลงพื้นที่และรับฟังรายงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าพื้นที่ ต.กลางหมื่น อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและประสบภัยแล้งซ้ำซาก 4 ปีติดต่อกัน มีแหล่งน้ำดิบในพื้นที่คือหนองอีสานเขียว ที่มีลักษณะเป็นดินดาน ตื้นเขิน ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้มากนัก จึงมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ในส่วนของการแก้ปัญหาระยะยาว หรือการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยการขุดเจาะน้ำบาดาล ดึงน้ำจากห้วยแอ่งระยะทางยาว 300 เมตรเข้ามาเติม และจัดหารถบรรทุกน้ำบรรเทาความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชน ซึ่งจะเป็นในส่วนงบประมาณของปี 2570
นายศุภศิษย์กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาน้ำแล้ง เป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่มอบนโยบายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำกับดูแลและติดตามสถานการณ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าแหล่งน้ำใต้ดินมีปริมาณมาก ถ้ามีแหล่งน้ำก็สามารถประกอบอาชีพได้ ในส่วนของพื้นที่ ต.กลางหมื่นที่ใช้น้ำจากหนองอีสานเขียวดังกล่าว ก็ขอฝากไปถึงผู้นำชุมชน พี่น้องประชาชน ต้องสร้างจิตสำนึก ช่วยกันดูแล ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า รักษาความสะอาด ไม่ให้เกิดการอุดตัน
ด้านสิบเอกนพดล สำราญพงษ์ รองปลัดเทศบาลตำบลกลางหมื่น กล่าวว่า พื้นที่ตำบลกลางหมื่นเป็นพื้นที่สูง มี 12 หมู่บ้าน 1,512 ครัวเรือน ประชากร 4,762 คน มีอ่างเก็บน้ำ 1 แห่งคืออ่างเก็บน้ำห้วยแกง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 13% มีระบบน้ำผิวดิน 1 แห่งคือ ระบบป๊อกแท็งค์บ้านหนองหัวช้าง พื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคทั้ง 12 หมู่บ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง และระบบน้ำประชาหมู่บ้านชำรุด สำหรับการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำระยะสั้น ขอรับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 10,000 ลิตร เพื่อบรรทุกนี้มาเติมในบ่อน้ำดิบผลิตประปา ขณะที่ระยะยาว ดำเนินการขอประมาณสนับสนุนโครงการเจาะน้ำบาดาลกับสำนักงบประมาณอยู่
อย่างไรก็ตาม สำหรับกำหนดการลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ของนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองประธานผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยเขต 12 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมคณะในวันนี้ นอกจากติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ ต.กลางหมื่น อ.เมืองกาฬสินธุ์แล้ว ยังลงพื้นที่ตรวจติดตามการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ห้องประชุมเทศบาลหลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ขณะที่วันพรุ่งนี้ (9 เม.ย.68) มีกำหนดลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชุมชน ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด ที่วัดแพงศรี ต.ธัญญา อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์