วันที่ 8 เม.ย. 68 เวลา 14.00 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา นายจรัลธาดา กรรณสูต พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และพล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานฯ เพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ปี 2568
โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโรทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพยากรณ์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการปฏิบัติการแก้ไขปัญหา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference)
ในการนี้ คณะองคมนตรีได้มีข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการจัดการแหล่งน้ำเพื่อลดพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการปรับแผนเผชิญเหตุในทุกประเภทภัยอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และประชาชนได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยน้อยที่สุด
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในห้วงฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่ของประเทศมีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ สร้างความเสียหาย ทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชน
สำหรับการเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้ง ปี 2568 บกปภ.ช. ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์ พร้อมประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูล ณ วันที่ 1 เมษายน 2568 มีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และมีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไปแล้ว 3 จังหวัด 11 อำเภอ 16 ตำบล 96 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และกาญจนบุรี
ซึ่งมีทั้งกรณีการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และด้านการเกษตร และจากการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำต้นทุนในปี 2568 พบว่า มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ทำให้มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ทำให้มีปริมาณฝนตกในบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยคาดว่าในช่วงเดือนเมษายน 2568 สถานการณ์ภัยแล้งและอากาศร้อนจะรุนแรงน้อยกว่าในปี 2567 และเพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2568 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2568 เป็นการล่วงหน้า
โดยได้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานด้านการพยากรณ์ หน่วยงานทางวิชาการ และหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำ ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม ทั้งการจัดทำแผนเผชิญเหตุในทุกระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานในพื้นที่ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร พร้อมอาศัยกลไกฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น และท้องที่สอดส่อง ดูแล สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และแนวทางการให้ความช่วยเหลือและช่องทางการขอรับความช่วยเหลือของภาครัฐ
ในกรณีพื้นที่ที่ยังไม่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ได้กำชับให้ดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า อาทิ การสูบน้ำเข้าระบบประปาหมู่บ้าน การเป่าล้างบ่อบาดาล การขุดลอกเปิดทางน้ำ คลองส่งน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำรองในพื้นที่ให้เพียงพอ และกรณีพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้ง ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชน เข้าแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ การแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม และหากเกษตรกรได้รับความเสียหาย ทั้งด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ และอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งการเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและต่อเนื่อง
“สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในระดับพื้นที่ บกปภ.ช. ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตาม 6 มาตรการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 โดยเน้นการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ โดยประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการใช้น้ำ การจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุภัยแล้ง รวมถึงการแบ่งมอบภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงานตามแผนเผชิญเหตุอย่างชัดเจน รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรณีคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ/ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาการยกระดับการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดความขัดแย้งจากกรณีการแย่งชิงน้ำ หากเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่ไม่เพียงพอให้ประสานขอสนับสนุนการปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยทันที ตลอดจนรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานให้ บกปภ.ช. ทราบอย่างต่อเนื่อง” นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เตรียมพร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทรัพยากรและดำเนินมาตรการในเชิงป้องกันและลดผลกระทบล่วงหน้าในทุกด้าน ซึ่งได้เน้นย้ำให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 ศูนย์เขต ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และระดมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล รถผลิตน้ำดื่ม เครื่องเจาะบ่อบาดาล/บ่อน้ำตื้น รวม 48 รายการ 2,188 หน่วย สนับสนุนการปฏิบัติของจังหวัด โดยตั้งแต่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง มีผลการดำเนินการต่อเนื่องหลายพื้นที่ อาทิ การสูบน้ำเพื่อเติมน้ำเข้าสู่ระบบการผลิตประปาหมู่บ้าน การขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน การบรรทุกน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ขาดแคลน
นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังได้ขอสนับสนุนงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการฟื้นฟูและบูรณะแหล่งน้ำเดิม การกักเก็บน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน แหล่งน้ำสำรอง การปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำและกำจัดวัชพืช การเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับประปาหมู่บ้าน และการเป่าล้างบ่อบาดาล รวม 427 โครงการ ในพื้นที่ 23 จังหวัด 79 อำเภอ 128 ตำบล อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการมหาดไทยเติมน้ำ เติมสุข บำบัดทุกข์ คลายแล้ง ปี 2568 เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2567 – ปัจจุบัน (ข้อมูล 6 เม.ย. 68) สามารถดำเนินการสูบน้ำกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำในพื้นที่ 19 จังหวัด ปริมาณน้ำที่สูบได้ 7,683.792 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้ประโยชน์ 9,760 ครัวเรือน
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และทางสื่อสังคมออนไลน์บัญชีทางการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย ประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการให้ความช่วยเหลือต่อไป
.