เปิดเวทีเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” “เฉลิมชัย” เผย แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่จะอยู่แบบไหน เรากำหนดได้
วันที่ 8 เม.ย.68 เวลา 9.30 น. ที่ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้กล่าวเปิดงานเสวนา “โลกเดือด แผ่นดินขยับ : อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมีนายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการ รมว.ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ในวันรุ่งขึ้นตนได้มาที่ศูนย์ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เพื่อมากำหนดและให้แนวทางในการปฏิบัติให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบของกระทรวง เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นวันที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน
จากการที่ตนได้มีโอกาสเป็นกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี 52 – 53 ซึ่งเป็น กมธ. ที่ศึกษาเรื่องรอยเลื่อนมีพลัง ทำให้ได้ความรู้จากนักวิชาการที่ได้เชิญเข้ามาให้ข้อมูล โดยรอยเลื่อนต่างๆ นั้น ถือเป็นธรรมชาติที่เราต้องปรับตัวให้ได้ และการปรับตัวนั้นก็คือการเตรียมความพร้อมเพื่อลดการสูญเสีย ตลอดจนการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และที่สำคัญคือจะต้องทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจ
“สำหรับกรณีแผ่นดินไหวครั้งนี้จะมีผู้รู้จริงหรือไม่จริงออกมาให้ข่าวสับสน จนกระทั่งพี่น้องประชาชนงง และทำให้เกิดความหวาดวิตกไปเรื่อยๆ ในภาวะอย่างนี้ถ้ากลุ่มมวลชนขาดสติ หรือมีความตระหนก นั่นจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดว่ามีความจำเป็นหลังจากเกิดเหตุการณ์ ก็คือการสื่อสารข้อเท็จจริงตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” รมว. ทส. กล่าว
นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับในการประชุม ครม. วันนี้ จะได้มีการพิจารณางบกลาง เพื่อให้กรมทรัพยากรธรณี เป็นศูนย์บริหารกลางให้มีความพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติขึ้น จากในช่วงแผ่นดินไหวนั้นได้มีหลายหน่วยงาน หลายกระทรวงล้วนมีบทบาททั้งหมด ดังนั้นในวันข้างหน้าจะต้องมีศูนย์กลางที่เป็นศูนย์บริหารที่เดียว เพื่อให้มาทำหน้าที่บูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมกับมีมาตรการตั้งแต่การเตรียมความพร้อมรับมือ ตลอดจนการให้องค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและไม่ตื่นตระหนก
“สิ่งหนึ่งที่รัฐจะต้องเข้าไปกวดขันคือเรื่องสิ่งก่อสร้าง ดังจะเห็นว่าทั้งกรุงเทพฯ มีที่เดียวที่พัง เพราะฉะนั้นสาเหตุต้องเกิดจากการก่อสร้าง ไม่อย่างนั้นจะต้องมีการสูญเสียพังทลายหลายแห่ง นี่เป็นบทเรียนที่หลังจากนี้เราจะต้องเข้าไปเข้มงวด ดูแล เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกอบอุ่นใจ ภาครัฐไม่ได้ทอดทิ้ง และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลเคียงข้าง ในภาวะที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ผมเชื่อว่าวันนี้แผ่นดินไหวเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังมีอยู่ตลอดเป็นธรรมชาติของการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคืออยู่กับแผ่นดินไหวให้ได้ แต่จะอยู่ได้แบบไหนนั้นอยู่ที่พวกเราจะวางกำหนดทิศทาง” ดร.เฉลิมชัย กล่าว