ปภ. ร่วมกับ กสทช.ผู้ให้บริการเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมจัดทำ SOP การแจ้งเตือนภัยและการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน พร้อมหารือแนวปฏิบัติในการแจ้งเตือนภัย ทั้งก่อนและหลังการมีระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcasr
วันที่ 7 เม.ย. 68 เวลา 13.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประชุมคณะทำงานจัดทำระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) และข้อความมาตรฐานแจ้งเตือนภัยสำหรับส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้การแจ้งเตือนภัยเกิดความชัดเจนและรวดเร็ว โดยมีคณะทำงานฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมอุตุนิยมวิทยา กรมประชาสัมพันธ์ กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกรมทรัพยากรน้ำ ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ได้เน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดทำแผนมาตรการป้องกันภัยพิบัติและกระบวนงาน (Workflow) ให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนและหลังการมีระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) โดยให้ประสานการทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนงานการแจ้งเตือนด้วยการส่งข้อความสั้น (SMS) ให้ชัดเจนและรวดเร็ว สามารถรับมือกับสาธารณภัยต่าง ๆ ได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้เชิญคณะทำงานฯ ประชุมเพื่อจัดทำระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) และข้อความมาตรฐานแจ้งเตือนภัยสำหรับส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การกำหนดช่องทาง บุคคล และวิธีการส่งข้อความไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ร่างระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) การแจ้งเตือนภัย และร่างเนื้อหาข้อความการแจ้งเตือนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
ด้าน นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานจัดทำระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) การแจ้งเตือนภัยและข้อความมาตรฐานการแจ้งเตือนภัยสำหรับส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชน กล่าวว่า สำหรับประเด็นการกำหนดช่องทาง บุคคล และวิธีการส่งข้อความไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการแจ้งเหตุแผ่นดินไหวบนบก ทั้งผ่านระบบข้อความสั้น (SMS) และระบบ Cell Broadcast ที่ประชุมได้กำหนดให้กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลักในการแจ้งข้อความแจ้งเหตุแผ่นดินไหวบนบกให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชน ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะทำหน้าที่แจ้งข้อความสถานการณ์แผ่นดินไหวและข้อควรปฏิบัติแก่ประชาชนให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ส่วนกรณีการแจ้งเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ อีก 6 ภัย ได้แก่ ภัยสึนามิ อุทกภัย ดินถล่ม วาตภัย ภัยหนาว และภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะเป็นหน่วยงานหลักในการแจ้งข้อความสถานการณ์ภัยและข้อควรปฏิบัติแก่ประชาชน ให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ
“การประชุมร่วมกันในวันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ให้บริการเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งทำร่างกระบวนงาน (Workflow) การส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบข้อความสั้น (SMS) และระบบ Cell Broadcast เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติและดำเนินการต่อได้อย่างเป็นระบบและมีความประสานสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงาน และในระหว่างที่กำลังเตรียมพร้อมการเปิดบริการระบบ Cell Broadcasr เพื่อการแจ้งเตือนภัยประชาชนผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเต็มระบบในเดือนกรกฎาคม 2568 นั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันพัฒนากระบวนงานการแจ้งเตือนภัยด้วยการส่งข้อความสั้น (SMS) ให้ชัดเจนและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อความการแจ้งเตือนภัยที่ได้มาตรฐานการ เข้าใจง่าย สื่อสารได้อย่างครอบคลุม สามารถส่งถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปภ. จะรายงานความคืบหน้าการทดสอบระบบการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบ เพื่อร่วมทดสอบการรับข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยของแต่ละพื้นที่” นายชัยรัตน์ กล่าว