กรรมาธิการ ปภ.-สส. จตุจักร ลงพื้นที่พูดคุย อาสากู้ภัย เรื่องสิทธิ์สวัสดิการ ชี้ อยู่ระหว่าง ร่าง พ.ร.บ. อาสาสมัครฯ จ่อเรียก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจงเหตุตึก สตง.ถล่ม 

วันที่ 7 เม.ย.68 ที่ศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบเหตุจากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม นายชยพล สท้อนดี สส.กทม. เขตจตุจักร - หลักสี่ พรรคประชาชน พร้อมด้วย น.ส.ศนิวาร บัวบาน สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้าพูดคุยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยที่ปฎิบัติภารกิจค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคาร

น.ส.ศนิวาร เปิดเผยว่า วันนี้มาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย เกี่ยวกับเรื่องของสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ รวมถึงเรื่องอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่ง กมธ.จะมีการเชิญหน่วยที่เกี่ยวข้องมาหารือในวันที่ 9 เม.ย.นี้ อาทิ กรมทรัพยากรธรณี, กรมป้องกันบรรเทาและสาธารณะภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับเรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมถึงมาตรการป้องกันภัยพิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้ง กทม. ก็จะต้องชี้แจงในเรื่องของมาตรการการเยียวยา รวมถึงจะต้องชี้แจงในเรื่องที่พักอาศัยของประชาชน เช่นคอนโด บ้านพักต่างๆ ในพื้นที่ กทม. รวมถึงจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย

เมื่อถามว่า แรงงานชาวต่างชาติ จะได้รับการดูแลมาตรการเดียวกับคนไทยหรือไม่ นายชยพล ระบุว่า จะมีสิทธิ์บางอย่างที่คนไทยจะต้องได้ อันเนื่องมาจากสัญชาติไทย และการจ่ายภาษี แต่เราก็จะดูแลให้ทุกสัญชาติ ให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจะเท่ากันหรือไม่นั้นจะต้องดูในรายละเอียดก่อน ยังไม่สามารถระบุได้ และต้องดูว่าเรามีงบประมาณอยู่เท่าใด เพราะตอนนี้ยอดผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิตนั้นยังคงไม่นิ่ง ซึ่งเราก็ติดตามเพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ส่วนในเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง และไม่มีประกันมารองรับความเสี่ยง จากการปฎิบัติหน้าที่จะมีวิธีการอย่างไร นายชยพล กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักที่ตนเดินทางเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยในวันนี้ว่าได้รับสิทธิ์อะไรแล้วบ้าง อยากให้รัฐบาลดูแลในส่วนไหน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลในส่วนไหน ของเจ้าหน้าที่ที่มาเสี่ยงชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ 

น.ส.ศนิวาร กล่าวอีกว่า ทางพรรคประชาชน เล็งเห็นปัญหาในเรื่องนี้ จึงร่าง พ.ร.บ.อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยแห่งชาติ เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยควรจะได้รับสวัสดิการ รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่าง พ.ร.บ. นอกจาก ยังได้มาพูดคุยกับญาติผู้สูญหายว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งทางญาติร้องขออยากให้เจ้าหน้าที่มีการรายงานตัวเลขผู้สูญหาย ผู้เสียชีวิตตรงจุดพักคอยของญาติ เพราะญาติบางคนก็รออย่างใจจดใจจ่ออย่างมีความหวัง แต่กลับไม่ได้รับความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่

ส่วนปัญหาในพื้นที่สำหรับการรื้อถอนอาคารไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจร ฝุ่น เบื้องต้นยังไม่ได้รับการรายงานร้องเรียนอะไรเข้ามา เพราะทุกคนเข้าใจได้ว่าตอนนี้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้มีการพูดคุยกับทางกทม.อยู่เป็นระยะ จึงอยากขอให้ประชาชนเลี่ยงใช้เส้นทางดังกล่าวไปก่อน ซึ่งกรอบระยะเวลาในการรื้อถอนนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะส่วนตัวยังมีความหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต จะให้กวาดทีเดียวก็เป็นไปไม่ได้

ส่วนจะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สตง. เข้ามาชี้แจงที่รัฐสภาหรือไม่ เรื่องนี้จะต้องรอการสื่อสารอย่างเป็นทางการจากพรรคประชาชนอีกครั้ง แต่เราก็มีการติดตามในเรื่องนี้อยู่อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า สตง. ในฐานะที่กำกับดูแลในเรื่องของการใช้งบประมาณ แต่อาคารที่ตนเองสร้างนั้น กับมีข้อพิรุธ เรื่องโครงสร้าง และเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง ควรจะต้องมีการออกมาชี้แจงอะไรหรือไม่ นายชยพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ สตง. ต้องออกมาให้คำตอบ ซึ่งเราจะไปไล่ดูในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด และ มาตรฐานต่างๆ ชิ้นส่วนที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งเราจะต้องไปดูที่พยานหลักฐานว่าจะสามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง