จากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าทั่วหน้า ทั้งภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariff) และภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงถึง 37% เนื่องจากมีดุลการค้าเกินดุลกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม รัฐบาลไทยจึงเลือกใช้แนวทางเชิงสร้างสรรค์ โดยไม่ตอบโต้กลับ แต่กลับเสนอการขยายการนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื้อวัว ปลาทูน่า และที่น่ากังวลที่สุดคือ เนื้อหมู แม้เจตนาเพื่อปรับสมดุลการค้าอาจดูเหมือนเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ประเด็นการนำเข้าเนื้อหมูกลับก่อให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ผลกระทบที่ตามมานั้น “คุ้มค่า” หรือ “คุ้มเสี่ยง” กันแน่?

ต้นทุนที่มองไม่เห็น

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก มีความสามารถในการผลิตหมูในต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศไทยอย่างมาก เนื้อหมูจากสหรัฐฯ จึงมีราคาถูก เมื่อเข้าสู่ตลาดไทย ย่อมกระทบต่อโครงสร้างราคาภายในประเทศ และทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่สามารถแข่งขันได้

ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติชี้ว่า แม้เกษตรกรไทยจะยินดีหากมีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่กลับไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำเข้าเนื้อหมูสำเร็จรูป เพราะเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้สินค้าแข่งขันโดยตรงจากภายนอก เข้ามาทำลายฐานการผลิตในประเทศ

เมื่อเกษตรกรเลิกเลี้ยง...ใครจะเลี้ยงพวกเรา?

เมื่อราคาตลาดถูกดันลงจากหมูนำเข้า เกษตรกรไทยจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และต้องออกจากอาชีพ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตหมูในประเทศลดลงในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเนื้อหมูอย่างถาวร

กรณีของประเทศฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา หลังเปิดตลาดให้หมูนำเข้าทะลักเข้า ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศทยอยเลิกเลี้ยงหมู ปัจจุบันต้องพึ่งพาหมูจากต่างประเทศเป็นหลัก และถึงแม้จะเป็นสินค้านำเข้า ราคาหมูกลับเพิ่มขึ้นถึง 30% กลายเป็นภาระค่าครองชีพที่ประชาชนต้องแบกรับในระยะยาว

มาตรฐานกับความเสี่ยงด้านสุขภาพ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มักถูกละเลยคือเรื่องของมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะการใช้ “สารเร่งเนื้อแดง” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในกระบวนการเลี้ยงสุกรของไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค

ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงอนุญาตให้ใช้สารนี้ภายใต้กฎหมาย แม้จะมีข้อถกเถียงในระดับนานาชาติเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อระบบหัวใจและระบบประสาทของมนุษย์ หลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง แต่หากไทยเปิดนำเข้าโดยไม่พิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ ก็อาจเท่ากับการลดมาตรฐานด้านอาหารของประเทศโดยไม่รู้ตัว

ทางเลือกมี แต่ต้องเลือกให้เป็น

แทนที่จะเลือกนำเข้าเนื้อหมูซึ่งส่งผลเสียหลายด้าน ไทยควรมองหาทางเลือกที่ไม่กระทบต่อภาคเกษตรกรรมในประเทศ เช่น การนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าสูงและไทยยังต้องพึ่งพาอยู่ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซแอลเอ็นจี

ตัวอย่างล่าสุดคือ การลงนามนำเข้าก๊าซ LNG ปีละ 1 ล้านตัน ระยะเวลา 15 ปี มูลค่ารวมกว่า 7.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการขยับเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยลดดุลการค้าโดยไม่สร้างผลกระทบในประเทศ

ดังนั้น แม้การเจรจาทางการค้าอาจจำเป็นต้องมีการ “ให้” และ “รับ” แต่การเลือกสิ่งที่จะแลก ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้นคือความมั่นคงของเกษตรกร ความปลอดภัยของผู้บริโภค และเสถียรภาพในระบบอาหารของประเทศ การลดกำแพงภาษี อาจดูเหมือนผลประโยชน์ระยะสั้น แต่หากต้องแลกด้วยความเสียหายระยะยาว…อาจไม่คุ้มเลยก็ได้…

โดย : สังวาลย์ สยาม นักวิชาการ ด้านเกษตรปศุสัตว์