ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงให้ความสนพระทัยในคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยอยู่เสมอ ด้วยการรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพอนามัยให้ประชาชนปลอดภัย และห่างไกลจากโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คนที่มีอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิต เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากได้รับเชื้อและแสดงอาการของโรคจะเสียชีวิตทุกราย
ด้วยเหตุนี้ องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จึงมีพระปณิธานมุ่งมั่นขับเคลื่อนดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา โดยทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ทรงทราบว่าพื้นที่ในภาคตะวันออกขณะนี้ พบการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และมีการแพร่ระบาดในสัตว์เป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างจริงจัง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2568 โดยทรงนำทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์ เขต 2 และหน่วยงานอื่น ๆ ในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมออกหน่วยให้บริการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมันให้แก่สุนัขและแมวของประชาชน และสัตว์จรจัด ตลอดจนการจัดฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้องแก่ประชาชน เกษตรกร และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นกำลังหลักและมีบทบาทสำคัญในการนำความรู้ไปถ่ายทอดขยายผลสู่ชุมชนต่อไป อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าประสงค์ขององค์การอนามัยโลก
โอกาสนี้ พระราชทานวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่ปศุสัตว์จังหวัดของแต่ละพื้นที่ สำหรับนำไปฉีดให้แก่ประชากรสัตว์กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ สุนัขและแมวจรจัด เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ ทั้งนี้ สัตว์ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งมีผลในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในสัตว์และคนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
พร้อมกันนี้ ทรงงานด้านสัตวแพทย์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญพิเศษ สาขาศัลยศาสตร์ ด้านวิสัญญีทางสัตวแพทย์ ที่ทรงชำนาญด้านการวางยาสลบให้กับสัตว์ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม ร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ดำเนินการผ่าตัดทำหมัน และรักษาโรคที่พบให้กับสุนัขของประชาชน โดยทรงใส่พระทัยในการติดตามอาการของสัตว์ทุกตัวที่ทรงรักษาให้เป็นไปตามแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มตั้งแต่ทรงวางแผนการใช้ยาสลบ การให้ยานำสลบ การเฝ้าระวังสัญญาณชีพด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการสัตวแพทย์ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ทั้งนี้ การผ่าตัดทำหมัน ถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดถาวรที่ให้ผลดีและปลอดภัยที่สุดแก่สุนัขและแมว อีกทั้งเป็นการควบคุมจำนวนประชาสัตว์ไม่ให้มีการขยายพันธุ์ จนกลายเป็นการสร้างปัญหาแก่ชุมชน สังคม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในภายหลัง โดยสรุปผลจากการดำเนินกิจกรรมออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ในระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2568 ที่ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด มีจำนวนสุนัขและแมวที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวม 379 ตัว และเข้ารับการผ่าตัดทำหมัน รวม 465 ตัว
จากพระวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นตั้งพระทัยในการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยทั้งของประชาชนและประชากรสัตว์ ให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้การขับเคลื่อนดำเนินงานตามโครงการ “สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ” ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ถึงการดำเนินงานที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการยกระดับการให้บริการทางการสัตวแพทย์ที่ได้มาตรฐานไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า การควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ด้วยการผ่าตัดทำหมัน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ เพื่อให้การบริหารจัดการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ทรงวางรากฐานที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชนและสรรพสัตว์ เพื่อนำไปสู่อนาคตของระบบสาธารณสุขไทยที่เข็มแข็งและยั่งยืนต่อไป