เริ่มสำแดงแผลงฤทธิ์พ่นพิษเข้าให้แล้ว

สำหรับ คำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยการตัดงบประมาณด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ในประเทศ และคำสั่งฝ่ายบริหารที่ให้ปรับลดจำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ อันรวมถึงเจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ ที่ถูกนับว่าเป็นพนักงานของรัฐด้วยเช่นกัน ซึ่งจรดปากกาลงนามโดย “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” และมี “นายอีลอน มัสก์” นักธุรกิจที่รวยระดับมหาเศรษฐีแถวหน้าของโลก ที่ผันตัวเอาเข้าสู่ถนนการเมืองของสหรัฐฯ เป็นกองเชียร์ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือดอจ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และนายอีลอน มัสก์ ในห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ (Photo : AFP)

ก็ส่งผลต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ในสหรัฐฯ โดยฉับพลัน พร้อมๆ กันนั้น ก็มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจำนวนหนึ่ง ต้องกลายเป็น “คนตกงาน” ตามคำสั่งฝ่ายบริหารที่ปรับลดพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยในสหรัฐฯ ที่สุ่มเสี่ยงอาจจะต้องเตะฝุ่น เพราะตกงานตามๆ กันไปก็เป็นได้

ประชาชนชาวสหรัฐฯ ชุมนุมประท้วงคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปรับลดพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ และงบประมาณด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ (Photo : AFP)

เมื่องานวิจัยต้องถูกหั่นออกไปพร้อมงบประมาณ และอาจจะพาลลามเลยมาถึงเก้าอี้ ตำแหน่งงานของพวกเขาที่ทำท่าว่าจะไม่มั่นคงเฉกเช่นเมื่อก่อน ก็ทำให้จำนวนไม่น้อยของบรรดานักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ต้องถวิลแสวงหาห้องทดลองวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บ อันเป็นสถานที่ทำงานแห่งใหม่ของพวกเขาในต่างแดน นอกประเทศสหรัฐฯ

โดยได้มีการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ของเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ว่าจะอพยพโยกย้ายออกไปทำงานยังต่างประเทศกันหรือไม่?

ทั้งนี้ ในการสำรวจโพลล์ก็จัดทำขึ้นโดย “วารสารเนเจอร์” ซึ่งเป็นวารสารวิชาการรายสัปดาห์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ อันมีที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร

ทางวารสารเนเจอร์ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากบรรดานักวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 1,600 คน

ผลปรากฏว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 1,200 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75.3 ตอบว่า พวกเขากำลังพิจารณาที่ย้ายประเทศ คือ อพยพไปอยู่ประเทศอื่น ที่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกา ที่มีการตอบรับเกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อที่พวกเขาจะได้เดินหน้างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไปอีกได้

คณะนักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ ขณะกำลังวิจัยวัคซีนรักษาโรค (Photo : AFP)

ส่วนนักวิทยาศาสตร์กลุ่มตัวอย่างที่เหลือ ซึ่งมีจำนวนไม่ถึง 400 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 24.7 ตอบว่า จะยังพำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเหมือนเดิม ไม่อพยพโยกย้ายไปไหน

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ ที่ตอบว่า กำลังพิจารณาถึงการอพยพโยกย้ายออกนอกสหรัฐฯ นั้น ก็มีสำรวจความคิดเห็นแยกย่อยลงลึกไปในรายละเอียดอีกด้วย

โดยในจำนวนร้อยละ 75.3 หรือกว่า 1,200 คน ของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการย้ายออกนอกสหรัฐฯข้างต้นนั้น ปรากฏว่า จำนวน 690 คน เป็นผู้ที่จบด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แล้ว ซึ่งอย่างน้อยก็จบการศึกษาระดับหลังปริญญาตรี ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีกจำนวน 340 คน ก็เป็นผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกตามมหาวิทยาลัยต่างๆ

ในส่วนของกลุ่มอายุของเหล่านักวิทยาศาสตร์กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม ก็พบว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบว่า สนใจที่จะย้ายออกนอกประเทศสหรัฐฯ นั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะมีอายุไม่มาก หรือยังหนุ่มสาวอยู่ แตกต่างจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่สูงวัยกว่า ที่ตอบไม่ประสงค์ที่จะย้ายไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีอายุ หรือสูงวัย ซึ่งไม่ประสงค์ที่ย้ายไปต่างประเทศ ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ย้ายออกนอกประเทศด้วยว่า เพราะมีความเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังประเทศบ้านเกิดของพวกเขา ที่พวกเขาเกิด และเติบโตมาในประเทศแห่งนี้

นอกจากนี้ พวกเขาก็ยังหวังด้วยว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะเปลี่ยนใจ เปลี่ยนแปลงคำสั่งฝ่ายบริหารข้างต้น ฟื้นการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่ หรือไม่ก็พวกเขา ยังหวังพึ่งศาล ที่จะมีคำสั่งให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศแก่พวกเขาเหมือนเดิม หรือไม่ก็หวังให้ศาลมีคำพิพากษาคำสั่งฝ่ายบริหารคำสั่งนี้เป็นโมฆะ เหมือนกับหลายคำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นโมฆะไป

ขณะที่ ในส่วนของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มตัวอย่าง ที่ตอบว่า กำลังพิจารณาอพยพย้ายออกนอกประเทศนั้น โดยประเทศที่พวกเขาสนใจที่จะโยกย้ายไปลงหลักปักฐาน ตั้งถิ่นฐานเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พวกเขารัก ชื่นชอบ เดินหน้าต่อไปได้นั้น ก็ระบุชื่อประเทศมาว่า เป็น “แคนาดา” ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ที่มีพรมแดนใกล้ชิดติดกับสหรัฐอเมริกา นั่นเอง

ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือห้องแล็บ สาขาฟิสิกส์ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่บรรดานักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ ต้องการย้ายไปอาศัยอยู่ (Photo : AFP)

นอกจากนี้ ก็ยังมีภูมิภาคยุโรป ที่พวกเขาสนใจย้ายถิ่นฐานเข้าไปพำนักเช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุชื่อประเทศที่แน่ชัด

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง “นายราฟาแอล กลุกส์มานน์” นักการเมืองจาก “พรรคจตุรัสสาธารณะ” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “สมาชิกสภายุโรป” จากประเทศฝรั่งเศส ได้เปิดศึกวิวาทะกับประธานาธิบดีทรัมป์ ถึงขั้นทวงคืน “อนุสาวรีย์เทพเสรีภาพ” จากสหรัฐฯ ให้นำกลับมายังฝรั่งเศส ประเทศผู้มอบให้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน พร้อมกันนี้ นายกลุกส์มานน์ ก็ยังได้เอ่ยปากเชื้อเชิญบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในสหรัฐฯ ให้ย้ายออกมาลงหลักปักฐานที่ประเทศฝรั่งศส จากการที่รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งตัดงบประมาณด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ และขับไล่ไสส่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยเหล่านี้ ให้ออกจากงาน ตามคำสั่งฝ่ายบริหารปรับลดพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐตามคำสั่งฝ่ายบริหาร ที่ลงนามโดยประธานาธิบดีทรัมป์

นายราฟาแอล กลุกส์มานน์ สมชิกสภายุโรปจากฝรั่งเศส ผู้เคยกล่าวเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากสหรัฐฯ ให้ย้ายอพยพเข้ามาพำนักในฝรั่งเศส (Photo : AFP)

โดยนายกลุกส์มานน์ กล่าวว่า ฝรั่งเศสยินดีต้อนรับบรรดานักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยเหล่านี้กันทุกคน