ลุ้นคำพิพากษาศาลอาญาฯ 8 เม.ย.นี้ คดีรักษาการเลขาฯ ฟ้องกรรมการ 4 กสทช. ปมปลดไตรรัตน์พ้นรักษาการเลขาฯ กสทช. พ่วงงบถ่ายทอดบอลโลก 600 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ในคดีหมายเลขดำ อท.155/2566 ซึ่งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่นฟ้องกรรมการ กสทช. 4 ราย และรองเลขาธิการอีก 1 ราย ฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
ในคดีหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ซึ่งเป็นคดีที่นายไตรรัตน์ (โจทก์) ได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1) ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2) , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3) ,รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5)
สาเหตุเริ่มจากคำสั่งลับ กสทช. ที่ 7/2566 ลงวันที่ 23 ม.ค. 2566 ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสนับสนุนงบ 600 ล้านบาทจากกองทุนวิจัยและพัฒนา (กทปส.) เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยที่คณะอนุกรรมการชุดนี้ถูกเสนอชื่อโดยจำเลยที่ 1 ถึง 3 และต่อมาถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และละเมิดมติ กสทช. รวมถึงข้อเสนอของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และมติที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท.
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดทำรายงานลับสรุปว่า การดำเนินการของสำนักงาน กสทช. อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี 4 เสียงเห็นพ้อง และอีก 2 เสียงงดออกความเห็น ซึ่งนายไตรรัตน์มองว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียง “ความเห็นลอยๆ” ไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย
ต่อมาในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ได้บรรจุรายงานดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระ 5.22 ที่ประชุมมีมติรับทราบรายงานและพิจารณาว่าการกระทำของนายไตรรัตน์อาจฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมลงมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และให้ปลดนายไตรรัตน์จากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
โดยนายไตรรัตน์ อ้างว่า การลงมติปลดจากตำแหน่งขัดต่อระเบียบ กสทช. ข้อ 21 และ 29 ที่ห้ามกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยลำพัง และเป็นการเปิดทางให้จำเลยที่ 5 เข้ารับตำแหน่งแทน และยังอ้างอีกว่า เหตุการณ์นี้ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพของเขาอย่างรุนแรง เนื่องจากข่าวการปลดตำแหน่งถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ คดีนี้ยังอยู่ในความสนใจของสังคมเนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาเป็นชุดเดียวกับที่ตัดสินคดีหมายเลขดำ อท.147/2566 ซึ่งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้อง ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต หนึ่งในจำเลยของคดีนี้ โดยศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด และลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
และหนึ่งในผู้พิพากษาองค์คณะชุดนี้ก็เคยพิจารณาคดีหมายเลขดำ อท.199/2565 ที่ น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี ฟ้องกรรมการ กสทช. กรณีมติรับควบรวมทรู-ดีแทค โดยไม่ใช้อำนาจตามประกาศ กสทช. ซึ่งศาลยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
การพิจารณาคดีนี้จึงเป็นที่จับตาของวงการสื่อและประชาชน ว่าคำตัดสินของศาลในวันที่ 8 เม.ย. จะเป็นอย่างไร และจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการกำกับดูแลองค์กรอิสระหรือไม่