วันที่ 6 เม.ย. นายฐิติพงศ์ โพธิพรหม หรือ ช่างเบิร์ด หัวหน้าผู้รับเหมาระบบไฟที่ถูกเบี้ยวเงินค่าจ้างในคลิปวิดีโอที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ เปิดเผยว่า บริษัทของตน คือ บริษัท บีแอล จำกัด เข้าไปทำงานที่อาคาร สตง. ได้ประมาณ 1 ปี ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 67 จนถึงเดือน ม.ค. 68 ถูกว่าจ้างจากบริษัท ให้เข้าไปทำระบบไฟฟ้า

นายฐิติพงศ์ กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ตนรู้จักบริษัทแห่งหนึ่ง และรับทำงาน เพราะเห็นว่าทางตัวแทนของบริษัทให้ความมั่นใจว่า เป็นโครงการใหญ่มีทุนการสร้างหลักพันล้าน และเป็นโครงการของรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือ ตนจึงเชื่อใจรับทำงานโดยไม่มีการเซ็นสัญญา โดยเขาให้ตนทำหน้าที่ดูแลเรื่องระบบไฟทั้งหมดของโครงการทั้งนี้ ตนได้ขนคนงานมาทำงานนี้มากกว่า 80 คนทำให้ตอนนั้นตนเป็นซับคอนแทรค ต่อจากอีกบริษัทหนึ่ง ที่เข้ามาทำงาน และ บริษัทดังกล่าวก็เป็นซับคอนแทรคจาก บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และ บริษัท อิตาเลียนไทย

ต่อมาในช่วงต้นที่ทำงาน 1-2 เดือนแรก ทางบริษัทได้จ่ายเงินปกติ แต่ช่วงเดือน มิ.ย. 67 เริ่มจ่ายเงินไม่ครบตามกำหนด จ่ายเงินไม่เต็มจำนวนบ้าง เช่น จะต้องจ่ายเดือนละ 500,000 บาท ก็จ่ายแค่ 250,000 บาท โดยอ้างเหตุผลว่าจะเอาไปทบจ่ายในงานหน้า แต่พอผ่านไป 15 วัน ก็เงียบหาย พยายามตามเรื่องเงินตลอด แต่ทางบริษัทก็ไม่จ่ายเงินให้

มีช่วงหนึ่งในคลิปวิดีโอ ที่ตัวแทนของบริษัทอิตาเลียนไทย บอกว่าจ่ายเงินให้กับบริษัทที่รับต่อมาอีกทีไปแล้ว ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าเขาจ่ายเงินให้กันครบหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ตนไม่ได้เงินเลยสักบาทกว่า 3 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่ตนรับต่อมาอีกทีจะบิดไม่นำเงินมาจ่ายให้ตนหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่ใจ เพราะทุกครั้งที่ทวงถามก็บอกว่ายังไม่ได้เงินจากซับคอนแทรคตัวเองเหมือนกัน ตนเชื่อว่าหากได้เงินมาแล้วเค้าอาจจะนำไปหมุนและไม่มีเงินมาจ่ายพวกของตนเอง ทำให้ต้องไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการนำเงินมาจ่ายลูกน้อง ด้วยการควักเงินสำรอง และต้องเอาบ้าน เอารถ ที่ดิน ไปจำนอง เพราะไม่มีเงินจ่าย ต้องแบกรับปัญหาดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ส่วนเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมาตนและบริษัทอื่นๆที่เป็นซับคอนแทรคของบริษัทที่ตนรับต่อมาไปประท้วงทวงเงินที่ตึก สตง. เพราะตั้งใจจะไปพบกับผู้ว่า สตง. เนื่องจากเป็นวันส่งงานพอดี เลยอยากเข้าไปขอความเห็นใจและอยากให้ผู้ว่า สตง. เข้ามาแก้ปัญหาในการจ่ายเงินให้ แต่ปรากฏว่าก็ได้เจอแค่ผู้จัดการโครงการ ซึ่งเป็นคนของบริษัทที่ตนรับช่วงต่อมา กับคนของบริษัท อิตาเลียนไทย พร้อมกับ นายหลินหยาง ผู้ควบคุมโครงการ จากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เท่านั้น

ทั้งวันนั้นมีข้อสรุปแค่ว่าจะมีการจ่ายเงินงวดที่ 23 (งวดสุดท้าย) ให้กับทั้ง 6 บริษัทที่ยังไม่ได้รับเงินเหมือนกัน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 5,795,613 ล้านบาท โดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 จะตัดเงินของบริษัทที่ตนรับช่วงต่อมาจ่ายให้ก่อน ผ่านระบบเปย์เมนต์ แต่ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว ยอมรับว่าผิดหวังมาก เพราะโครงการระดับหลักพันล้าน ระดับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ก็คิดว่าคงไม่โกงเงิน และคงไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน เพราะมีความน่าเชื่อถือ และตนเชื่อว่ายังมีบริษัทอื่นที่เป็นซับคอนแทรคของบริษัทที่ตนรับต่อมา อีกหลายเจ้าที่ยังไม่ได้เงินเช่นกัน มูลค่าน่าจะกว่า 10 ล้านบาท

เมื่อถามถึงสภาพอาคาร สตง. แห่งใหม่ ตอนที่ได้เข้าไปทำงาน เป็นอย่างไรบ้าง นายฐิติพงศ์ บอกว่า ในช่วงที่ตนเข้าไปทำงานก็เห็นคนของ สตง. และบริษัทจากประเทศจีน เข้ามาตรวจงานหลายครั้ง เพื่อเช็กความคืบหน้าของการก่อสร้าง แต่สิ่งที่เอะใจ เมื่อตอนเขาไปทำงานเห็นว่าผนังของตึกมีความเปราะบางเพราะเมื่อตนจะตั้งแคมป์ทำงานผนังแผ่นปูนก็หลุด ด้านในเป็นโพรง ไม่แน่นเหมือนปูนทั่วไป เหมือนปูนไม่หุ้มเหล็ก เวลาเอาค้อนตอก ไม่ค่อยติด ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

นายฐิติพงศ์  กล่าวอีกว่า ไม่รู้ว่าในความโชคร้ายถือเป็นความโชคดีอยู่หรือไม่ที่ตนนำคนงานออกไปตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะถ้าหากยังอยู่ต่อก็อาจจะคงติดอยู่ในตึก สตง. แล้ว ไม่รู้ว่าต้องขอบคุณเขาหรือไม่อย่างไร และวันนี้ทางกลุ่มผู้รับเหมาที่เป็นซับคอนแทรคของบริษัทที่ตนรับต่อมา ได้นัดรวมตัวเพื่อมาคุยกันกับตัวแทนบริษัทอิตาเลียนไทย และตัวแทนบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เพื่อหาข้อสรุปของเรื่องเงินที่ติดค้างไว้ ตนหวังแค่เพียงได้เงินคืนกลับมา เพราะตั้งแต่ที่คุยล่าสุดก็ไม่เคยมีใครติดต่อตนกลับมาอีกเลย และที่ผ่านมาตนเคยไปฟ้องศาลแรงงานไปแจ้งความแต่ก็ไม่มีใครรับเรื่อง