วันที่ 4 เม.ย. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการจัดงานสืบสานและส่งเสริม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ภายใต้สโลแกนเที่ยวท้องถิ่น เที่ยวเมืองที ของดีบ้านเรา ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองที อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยนางสาวหทัยทิพย์ สุขตน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองที พร้อมคณะกรรมการได้ร่วมกันจัดขึ้น ซึ่งในงานมีการจัดกิจกรรมขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการสะท้อนถึงการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ของบ้านเมืองที ซึ่งจะจัดแสดงในช่วงเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย โดยชุมชนบ้านเมืองที มีประวัติความเป็นมาว่าเป็นต้นกำเนิดของเมืองสุรินทร์ ซึ่งปัจจุบันหมู่บ้านเมืองที่ ถือเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย โดยมีนายประภาส ศรีจันทร์เวียง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นประธานเปิดงาน
โดยกิจกรรมในงานมีการจัดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบวงสรวงและรำถวายอนุสาวรีย์เชียงปุม หรือ พระยาสุรินทรภักดี เจ้าเมืองคนแรกของจังหวัดสุรินทร์ รวมไปถึงการจัดแสดงการละเล่นพื้นบ้าน รำตร็ต ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านในพื้นถิ่นอีสานใต้ ชุมชนเขมรพื้นบ้านพื้นถิ่น มาตั้งแต่โบราณ โยมีความเชื่อว่าเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่หาดูได้ยากในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งชุมชนที่ตำบลเมืองที ยังคงอนุรักษ์และสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรำตร๊ต บางท้องถิ่นเรียกว่า เรือมตรด คือ "รำตรุษสงกรานต์" เป็นการละเล่นพื้นบ้านในพื้นถิ่นอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ เป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ไทยสมัยก่อน คือช่วงเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเขมร เรือมตร็ต เป็นประเพณีพื้นบ้าน เป็นการละเล่นหรือรำบอกบุญชาวบ้านในพื้นที่ ก่อนรวบรวมทรัพย์สิ่งของที่ได้ไปถวายให้วัด ถือเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้าน
โดยทุกคนจะมีการแต่งตัวที่สวยงามด้วยผ้าไหมประจำถิ่น หรือเสื้อที่ใช้เล่นน้ำสงกรานต์ ผู้ชายจะสวมใส่โสร่งไหม เสื้อแขนยาวสีขาว ผู้หญิงก็จะสวมใส่ผ้าไหมประจำถิ่นสวยงาม มีผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้นำ ขับร้องเพลงเป็นภาษาเขมรพื้นถิ่น ตีจังหวะด้วยกลองโทน ซอ และฉาบ เป็นเครื่องดนตรีประกอบ และมีผู้ถือขันหรือไม้โก้งผูกด้วยผ้าไหมและเส้นไหมพร้อมยามเดินตามในกลุ่ม จากนั้นก็จะร้องเพลงโดยมีกลุ่มคณะเดินตามก็จะร้องตามอย่างเสียงดัง เดินไปตามบ้านแต่ละบ้านเพื่อรับบริจาคทรัพย์สิ่งของ เมื่อได้ครบทุกบ้านก็จะนำมารวบรวมแล้วนำไปบริจาคหรือถวายวัด โดยการละเล่นรำตร็ต จะมีการละเล่นก่อนสงการต์ประมาณ 7-10 วัน และหากมีการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ก็จะมีการจัดแสดงรำตร็ตให้ได้เห็นด้วยทุกครั้ง ซึ่งชาวบ้านในพื้นถิ่นอีสานใต้ชุมชนเขมรพื้นบ้าน เมื่อมีการจัดการละเล่นรำตร็ต ก็จะทราบว่าเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย มาถึงแล้ว ในจังหวัดสุรินทร์ยังคงพบว่าในแต่ละชุมชนยังสืบสานรักษาไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญหาย
ด้านอาจารย์ฉัตรเอก หล้าล้ำ ข้าราชการบำนาญ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสุรินทร์และรองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์ บอกว่า รำตร๊ต" บางท้องถิ่นเรียกว่า "เรือมตรด" คือ "รำตรุษสงกรานต์" เป็นการละเล่นพื้นบ้านในพื้นที่อีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ มีความเชื่อว่าเป็นการละเล่นเพื่อความสนุกสนานในวันขึ้นปีใหม่ไทยสมัยก่อน คือเดือนเมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายเขมร เรือมตร็ต เป็นประเพณีพื้นบ้าน เป็นการละเล่นหรือรำบอกบุญชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อเป็นการรับบริจาคทรัพย์สิน หรือสิ่งของ เพื่อรวบรวมมาทำบุญส่งเสริมพระพุทธศาสนา หลักๆคือการนำไปทำบุญที่วัด เรือมตร็ต เป็นการรำในเทศกาลขึ้นปีใหม่ของไทย คือช่วงสงกรานต์ เป็นหลัก ส่วนมากจะมีการละเล่นหรือรำก่อนสงกรานต์ประมาณ 7-10 วัน เพื่อจะรำในแต่ละหมู่บ้าน เป็นการบอกบุญ โดยจะมีหัวหน้านำขับร้องเป็นภาษาเขมรพื้นบ้าน ดนตรีก็จะมีกลองโทน ซอ และฉาบ เป็นส่วนประกอบ และมีคันเชลที่จะประดับสวยงามและมีกระดิ่ง เพื่อเป็นการเคาะจังหวะ หรือ ที่แต่ละชุมชนก็จะเป็นไม้ยาวโค้ง ผูกด้วยผ้าไหม เส้นไหม และมียามผูกติด เพื่อรับปัจจัยที่บริจาค เมื่อรำครบทุกบ้านแล้วก็จะรวบรวมปัจจัยไปถวายวัด เพื่อเป็นการบำรุงศาสนานั้นเอง
ซึ่งจะนิยมละเล่นหรือรำในช่วงก่อนสงกรานต์ รำตร็ต เป็นประเพณีการละเล่นและรำของชาวอีสานใต้ ชุมชนชาวเขมร ส่วย เป็นต้น หากเป็นพี่น้องชาวลาวเรียกว่ารำกันหลอน ในชุมชนอีสานใต้ยังคงมีการอนุรักษ์และละเล่นหรือรำกันอยู่ ซึ่งจะเป็นช่วงก่อนวันสงกรานต์ และถือเป็นการบ่งบอกว่าเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยได้เริ่มขึ้นแล้วนั้นเอง