นายกพัทยายันกระแสคลาดเคลื่อนกรณีข่าวทุนจีนสร้างตึก สตง.เสนอตัวสร้างรถไฟฟ้ารางเบาพัทยา หลังโลกโซเชียลแชร์ว่อนเคยสนใจร่วมลงทุน พร้อมเผยโครงการยังไม่ม้วนเสื่อรอผลการศึกษาครบ 3 เส้นทางก่อนเสนอส่วนกลางพิจารณาแผนการลงทุนในอนาคต

มีรายงานว่าที่ผ่านมามีข่าวคราวเสนอจนเกิดกระแสโลกโซเชียลในโลกโซเชียล เกี่ยวกับโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทดสอบความสนใจของภาคเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา “โมโนเรล” อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ช่วงเดือน ในช่วงปี 2563 โดยมีกระแสว่าในการสัมมนาดังกล่าวมีภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็นและสอบถามถึงการลงทุน โดยมีข้อมูลระบุว่ามีการเอ่ยชื่อ “ภาคเอกชนจากกล่มทุนจีน” ซึ่งตรงกับชื่อบริษัทฯที่ได้รับสัมปทานการก่อสร้างตึกสูงของ สต.ที่พังถล่มลงจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเสนอยอดเงินที่จะใช้ก่อสร้างกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท โดยพร้อมลงนามสัญญาได้ทันทีนั้น

ทั้งนี้จากการสอบถามนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้รับคำ ยืนยันว่า สำหรับโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองพัทยา ภายใต้การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา (Monorail) เมืองพัทยานั้น ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด และจากนโยบายการผลักดันให้เมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก จึงต้องมีการวางแผนขับเคลื่อนการพัฒนาให้สอดคล้องต่อแผนของนโยบายหลักของ EEC โดยเฉพาะระบบโครงข่ายด้านขนส่งสาธารณะในเมืองที่เชื่อมต่อกับระบบหลัก จึงได้ติดตามการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้าในเมืองพัทยาขึ้นและได้กำหนดรูปแบบรถไฟฟ้าไว้ 3 ประเภท คือ การจัดทำโครงการในรูปแบบบนพื้นถนนหรือ Tram แบบยกระดับหรือ BTS หรือ Monorail และแบบใต้ดินหรืออุโมงค์ ซึ่งจะต้องมีวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางด้านกายภาพ สภาพถนนเดิม เส้นทาง และการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและงบประมาณการลงทุน

โดยจากผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 1 พบว่า โครงสร้างทางวิ่งระดับดินหรือ Tram เป็นรูปแบบทางวิ่งที่ก่อสร้างระดับเดียวกับถนนเดิมมีผลกระทบต่อการใช้พื้นที่ผิวการจราจร เนื่อง จากถนนมีความกว้างน้อยและจุดตัดมากจะส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจร ขณะที่โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน เป็นรูปแบบทางวิ่งใต้ระดับถนนเดิมจะมีค่าก่อสร้างสูงมากและรูปแบบนี้เหมาะสำหรับถนนที่มีความกว้าง เขตทางเดิมมากเช่นกัน ส่วนระบบยกระดับซึ่งได้เลือกระบบ Monorail เป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิมแล้วแต่การกำหนด การก่อสร้างที่มีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร และมีการนำมาประกอบเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่งบการลงทุนก็น้อยกว่าระบบอื่น ที่สำคัญเหมาะกับพื้นที่ผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างเขตทางไม่มากนัก

ขณะที่เส้นทางการเดินรถกำหนดไว้ 3 เส้นทางหลักคือ 1.สายสีแดง ระยะ 8.20 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอเตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนสายชายหาด-ท่าเรือบาลีฮาย 2.สายสีเขียว ระยะ 9 กม.วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอร์เตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสายสอง-แยกทัพพระยา-แหลมบาลีฮายและ 3.สายสีม่วง วิ่งจากสถานีรถไฟพัทยา-มอร์เตอร์เวย์-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสาย 3-ถนนทัพพระยา-แหลมบาลีฮาย และจากผลการศึกษาทางกายภาพและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พบว่า สายสีเขียว เป็นเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่ประชาชนใช้ในการสัญจร และไม่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินมากนัก ส่วนบริเวณถนนพัทยาสายสอง ไม่มีอาคารที่มีความสูงเกิน 4 ชั้นมาก ทำให้การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ระดับความสูงซึ่งอาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุนทั้งสถานีจอดและทัศนียภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับเส้นทางนี้อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น ริมถนนมอร์เตอร์เวย์ด้านทิศใต้เลียบรั้วตลอดแนวเพื่อไม่ให้ไปรบกวนเส้นทางหลัก

นายปรเมศวร์ นายกเมืองพัทยา กล่าวเพิ่มเติมว่าอยางไรก็ตามสำหรับแผนการท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นจะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา มากหลายล้านคนต่อปี และหากโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้วเสร็จ รวม ทั้งระบบโลจิสติกส์อื่นๆ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกมาก

 ดังนั้น เมืองพัทยา จึงได้เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมารองรับ และเชื่อมกับโครงการก่อสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ของรัฐ อย่าง รถไฟฟ้ารางเบาหรือโมโนเรลพัทยา ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณหลายพัน ล้านบาทในการก่อสร้าง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังลดปัญหาเรื่องของการจราจรและการจัดระเบียบค่าโดยสารใหม่อีกด้วย 

 ทั้งนี้สำหรับ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ โมโนเรล คาดว่าจะใช้ระบบการลงทุนร่วมกับเอกชนในรูปแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน หรือ พีพีพี ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันเมืองพัทยายังไม่ได้เสนอไปยังส่วนกลางเพื่อพิจารณา เนื่องจากการศึกษาใน 3 เส้นทางการจัดสร้างยังไม่สมบูรณ์มากนัก ซึ่งคงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก แต่เมื่อแล้วเสร็จก็จะสรุปเรื่องของงบประมาณการลงทุน รูปแบบและรายละเอียดโครงการไปยังส่วนกลางเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป ทั้งการสรรหาผู้ร่วมลงทุนและรายละเอียดต่างๆ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวนั้นคาดว่าช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นกรณีของการเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเท่านั้น และอาจมีการนำเสนอขอรับทราบรายละเอียด ซึ่งพบว่าช่วงเวลานั้นมีภาคเอกชนจากบริษัทฯต่างๆทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมหลายบริษัทฯ แต่ไม่ได้เป็นการเปิดให้มีการเสนอตัวร่วมลงทุนแต่อย่างใด และคาดว่า บริษัทฯกลุ่มทุนของจีนที่รับก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง.ที่ประสบปัญหาคงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วย