วันที่ 4 เมษายน 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าภารกิจ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ว่า หลังจากนี้อาจมีบางทีมกู้ภัยนานาชาติทยอยถอนกำลัง เนื่องจากต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในประเทศอื่น โดยเฉพาะทีมระดับ Heavy Urban Search and Rescue ที่มีกำหนดการเข้าช่วยเหลือในหลายประเทศทั่วโลกภายใน 48 ชั่วโมง
“ทีมต่างชาติเน้นภารกิจช่วยชีวิตเป็นหลัก หากได้รับการร้องขอจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ก็จำเป็นต้องเดินทางต่อ แต่ภายในช่วงเวลาที่ร่วมภารกิจกับไทย เราก็ได้ประสบการณ์และแนวทางคิดใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงจัดทำฐานข้อมูล (database) และวิธีการปฏิบัติงานที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
สำหรับการค้นหาผู้สูญหายในระยะถัดไป จะเริ่มใช้ เครื่องมือหนัก (Heavy Equipment) มากขึ้น เพื่อเร่งเปิดทางเข้าสู่พื้นที่ลึก ซึ่งก่อนหน้านี้การค้นหาใช้วิธีแมนนวลเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบต่อผู้ที่อาจยังมีชีวิตรอด โดยเฉพาะในซอกหลืบของโครงสร้างที่พังถล่ม
“ภารกิจช่วงแรกยาก เพราะต้องค้นหาตามช่องต่างๆ แต่เมื่อเริ่มใช้เครื่องจักรกลเข้าช่วย ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เรามีบุคลากรเชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้ว” ผู้ว่าฯ กล่าว พร้อมเผยว่าทีมจากประเทศญี่ปุ่นจะเข้าร่วมในช่วงกลางและระยะยาว โดยจะสนับสนุนในด้าน การติดตั้งเซนเซอร์แจ้งเตือนแผ่นดินไหว และ ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร
ขณะเดียวกัน กองพิสูจน์หลักฐานยังคงดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานในพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากต้องเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย และคำนึงถึงโอกาสที่อาจยังมีผู้รอดชีวิตติดอยู่ภายในอาคาร
สำหรับ “เสียงปริศนา” ที่บางทีมตรวจพบก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ระบุว่า ยังมีความหวังว่าผู้รอดชีวิตอาจยังอยู่ในจุดนั้น แต่เนื่องจากวิธีการค้นหาแบบเดิมเข้าไม่ถึง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหนักเข้าช่วย และยังมีความเป็นไปได้ว่าผู้รอดชีวิตอาจหมดสติหรือมีแหล่งน้ำใกล้ตัวซึ่งช่วยยืดเวลาการอยู่รอดได้
ในส่วนของแผนปฏิบัติงานจากนี้ ทีมเครื่องมือหนักจะเข้าพื้นที่นำหน้า โดยมีหน่วยกู้ภัยเดินตามเสมือน “รถถังกับทหารราบ” คอยตรวจสอบวัตถุหรือร่างผู้ประสบภัย โดยจะเริ่มจาก โซน A ที่เข้าถึงได้ก่อน และค่อยๆ ขยายการค้นหาไปยังโซน B, C และ D ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ติดค้างจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณโถงลิฟต์และทางเชื่อมไปยังอาคารจอดรถ
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา ว่า ไม่ได้เกิดจากความท้อแท้ แต่ต้องการคำนึงถึงจิตใจของญาติผู้สูญหาย เพราะหากยังไม่พบผู้รอดชีวิตอาจทำให้เกิดความกังวลและหมดกำลังใจ
“ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างระมัดระวังและละเอียดอ่อน เพื่อให้การช่วยเหลือเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่กระทบต่อผู้ที่อาจยังมีชีวิตอยู่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย