“…ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่แต่ว่ามีความรู้ในทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรม จรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่และฐานะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้ หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมความรู้ดังกล่าวมาแล้วด้วย…” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในวันที่15ธันวาคม2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา ทรงเน้นย้ำคุณธรรมจริยธรรมในบทบาทหน้าที่ของนักเรียนและครูเป็นอย่างยิ่ง โดยทรงเห็นว่านักเรียนเป็นอนาคตของชาติ และครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่าต่อการสร้างอนาคตของเยาวชนไทยหรืออนาคตของชาติ ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ จึงอัญเชิญแนวพระราชดำริเกี่ยวกับหน้าที่ของนักเรียนและครู เผยแพร่สู่คุณครูและนักเรียนในโอกาสวันครูเพื่อน้อมนำสู่การปฏิบัติในชีวิตและถ่ายทอดขยายผลไปสู่กันและกันเป็นประจำต่อไป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำริว่า การที่จะให้ประเทศก้าวหน้าได้จะต้องเท่าทันวิทยาการต่างๆ อยู่เสมอ ไม่ล้าสมัย ทั้งนี้ การศึกษาไม่มีวันสิ้นสุด เพราะวิทยาการใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ การที่จะก้าวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงต้องศึกษาอยู่ตลอด อันเป็นการต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ณ ห้องประชุมโรงเรียนจิตรลดา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2523 ความตอนหนึ่งว่า “...ฉะนั้น ถึงวาระหนึ่งที่จะต้องถือว่าได้ความรู้พอสมควรที่จะพึ่งตนเองได้ ในการปฏิบัติทั่วๆ ไปก็ถือว่า การจบการศึกษาในขั้นมัธยมศึกษาแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีความรู้เพียงพอสำหรับที่จะอุ้มชูตัวเอง ที่จะนำตัวไปเพื่อเผชิญปัญหาต่างๆ ของชีวิต ตามความจริงนั้น เราจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปเรื่อย จะต้องมีผู้อุปการะตลอดไป ไม่ใช่เมื่อผ่านการศึกษาในโรงเรียนมัธยมแล้ว จะมีความสามารถเต็มที่ แต่มีหลักตามที่กล่าวเมื่อตะกี้ว่า ความรู้ที่ได้รับทั้งในด้านวิชาการ ทั้งในด้านความประพฤติ รู้จักวางตัวให้ดีนั้น เป็นสิ่งที่จะนำไปโดยสวัสดิภาพให้ผ่านชีวิตไปได้...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงให้ความสำคัญกับการปลูกฝังให้เด็กนักเรียนรู้จักหน้าที่สำคัญของตน คือ การเรียนรู้ให้ดี ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และให้เห็นคุณค่าของการหาวิชาความรู้เพื่อนำพาชีวิตรอด ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะครู นักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวลในโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน2524 ความตอนหนึ่งว่า “...นักเรียนทุกคนควรจะต้องทราบดีว่า หน้าที่สำคัญของนักเรียน คือ การเรียนให้เต็มกำลัง เรียนรู้ให้ดีและเรียนให้สำเร็จ แต่กระนั้น หลายๆ คนก็ทำเช่นนั้นไม่ค่อยได้เต็มที่ ทั้งนี้อาจเป็นด้วยยังมองไม่เห็นชัดถึงคุณค่าของวิชาความรู้ และประโยชน์ของการศึกษาเล่าเรียน นักเรียนจะต้องเข้าใจว่า วิชาความรู้นั้นเป็นของจำเป็นสำหรับการยังชีพ และการสร้างความเจริญทุกประการ การทำงานทุกอย่างต้องอาศัยความรู้ ผู้ใดไม่ขวนขวายศึกษาหาความรู้ไว้ก็ทำงานดีๆ ไม่ได้ จะต้องมีชีวิตอับเฉา และเป็นคนไร้ประโยชน์ ยิ่งถ้าเกียจคร้านไม่นำพากับความรู้และความเจริญก้าวหน้าต่างๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งตกต่ำไม่มีโอกาสได้ดี ทุกคนจึงต้องนึกถึงประโยชน์และความจำเป็นในภายหน้าให้มาก จะได้มีความกระตือรือร้นและขวนขวายเล่าเรียนวิชาต่างๆ ให้รู้ขึ้นมาด้วยความหมั่นขยันและขะมักเขม้น ในการเล่าเรียนนั้น นอกจากต้องตั้งอกตั้งใจขยันหมั่นเพียรแล้วยังจะต้องมีความคารวะอ่อนน้อมต่อครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่และต้องทำตัวให้เป็นที่เมตตาเอ็นดูของครูด้วย จึงจะทำให้ครูเห็นความตั้งใจดี ความมีน้ำใจ และครูก็จะเมตตายินดีอบรมสั่งสอนความรู้ความดีให้ทุกๆ อย่าง ให้ได้รับการศึกษาอบรมสมบูรณ์ทุกด้าน จึงขอให้ทุกคนกำหนดจดจำไว้พร้อมทั้งพยายามทำตามให้ได้...” จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นอย่างมาก โดยเน้นให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงทัศนะในเรื่องการเรียนรู้ตามรูปแบบที่อาศัยนักเรียนเป็นศูนย์กลางนี้ว่า ครูจะต้องเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนสนใจได้ ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะข้าราชการที่รับผิดชอบต่อการศึกษาฝึกหัดครูและข้าราชการกรมการฝึกหัดครู เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม2513 ความตอนหนึ่งว่า “...ในด้านที่ว่าจะหาความรู้ที่จะเรียนจะสอนนักเรียนอย่างไร เราจะต้องศึกษาว่าเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งเราก็เรียนจากเด็กเหมือนกัน ส่วนเด็กก็ยังต้องมีความคิดริเริ่ม อาจขัดกับครูบ้าง สงสัยครูบ้าง ก็เป็นการฝึกสมองของตน แต่ที่ว่าครูต้องสอนและนักเรียนต้องเรียนจากครูด้วยความเคารพนั้น ยังคงต้องมีอยู่ เพราะเหตุว่า ยืนยันได้ว่า เด็กที่เคารพครูและเรียนรู้วิชาจากครูด้วยความเคารพเป็นเด็กฉลาด มีข้อพิสูจน์อยู่ว่า ความรู้สึกอย่างนี้มีประโยชน์ มีนักศึกษาที่ไปต่างประเทศไปเรียนความรู้ชั้นสูง เวลาเขากลับมาได้ ถามเขาว่า เขาได้ความรู้มากหรือเปล่า ครูเป็นอย่างไร เขาบอกว่าได้ความรู้มาก แล้วก็บอกว่า ที่เขาได้ความรู้มาก เพราะครูเอาใจใส่เขาดีมาก... ก็สันนิษฐานได้ว่าเพราะนักศึกษาคนนั้นมีจิตใจเคารพครู ครูจึงมีกะจิตกะใจที่จะแบ่งความรู้ให้อย่างมากที่สุดที่จะทำได้... เราต้องถือว่า เด็กที่เคารพครูเพราะอยากได้ความรู้เป็นเด็กฉลาด ในด้านของครู ครูที่ฉลาดจะทำอย่างไร แต่โบราณกาลมาครูได้รับการเคารพกราบไหว้อย่างเต็มที่ เพราะว่าเป็นผู้ที่ให้ความรู้ มาปัจจุบันนี้ครูส่วนมากถือการสอนเป็นอาชีพสำหรับหาเงิน เพราะว่าถูกสถานการณ์ต่างๆ บังคับ... แต่ถึงอย่างไรก็ยังรู้สึกว่าครูจะสามารถสอนอย่างเก่าได้ โดยที่ครูต่างทำตัวให้เป็นครูที่น่าเคารพ แม้จะฝืดเคืองก็ยังกัดฟันสอนและแจกจ่ายความรู้ออกไป ดังนี้ ก็จะได้ความเคารพจากลูกศิษย์และการสอนก็จะง่ายขึ้น แต่ว่าต้องวางตัวให้เป็นครูที่แท้ การฝึกหัดครูจะต้องย้ำในข้อนี้ว่า ถ้าครูทำตัวเป็นครู จะทำให้นักเรียนให้ลูกศิษย์นับถือเป็นทุน แต่ว่าถ้าทิ้งความเป็นครูโดยที่ท้อใจ โดยที่ยอมแพ้สถานการณ์ ก็ทำให้ลูกศิษย์มีความเคารพไม่ได้และสอนไม่ได้...” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงสนพระราชหฤทัยต่อการพัฒนาครูเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทรงเห็นว่า ครูนับเป็นหนึ่งในบุคลากรหลักของการศึกษา เป็นแบบอย่าง แม่พิมพ์แก่ผู้เรียน การศึกษาที่ดีจะเกิดขึ้นได้ครูต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ วิชาและทักษะชีวิตต่างๆ และเป็นแบบอย่างความประพฤติคุณธรรม จริยธรรมด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของครูอยู่เสมอ เช่น พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะครู นักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวลในโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล 7 มิถุนายน 2521 ความตอนหนึ่งว่า “...การฝึกหัดครูและการฝึกหัดเจ้าหน้าที่ศึกษาธิการย่อมเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาและขยายการศึกษาออกไปให้กว้างขวางในอนาคต การที่ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาในขั้นบัณฑิตเป็นจำนวนมากในวันนี้ ย่อมเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งสำหรับการศึกษาของประเทศเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า นิสิตนักศึกษา ซึ่งสำเร็จการศึกษาในคราวนี้ คงจะได้มีคุณธรรม ศีลธรรมและวัฒนธรรมเป็นทุนอยู่ในตัวบ้างแล้ว แต่ในฐานะที่ต้องออกไปทำหน้าที่เป็นครูของผู้อื่น ท่านจำจะต้องสร้างสมธรรมะต่างๆ เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และรู้จักวางตัวให้สมกับเป็นผู้มีหน้าที่สั่งสอนและอบรมเยาวชนควรจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และช่วยกันขจัดปัญหาเยาวชนให้สิ้นไปโดยเร็ว และส่งเสริมให้เยาวชนได้เป็นคนที่มีสัมมาอาชีพและความประพฤติดี เพื่อเป็นกำลังในการที่จะสร้างประเทศชาติต่อไป...” คุณธรรมของครู นอกจากวิชาความรู้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ครูจะต้องมีคุณธรรม เพราะไม่เพียงแต่ช่วยให้ครูทำงานได้อย่างดีแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ด้วย ดังพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะครูอาวุโส รุ่นที่ 10 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2520ความตอนหนึ่งว่า “...ผู้เป็นครูอย่างแท้จริง นับว่าเป็นบุคคลพิเศษ ผู้ต้องแผ่เมตตาและเสียสละเพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า และความสุข ความเจริญของผู้อื่นอยู่ตลอดชีวิต ที่กล่าวดังนั้นประการหนึ่ง เพราะครูจำเป็นต้องมีความรัก ความสงสารศิษย์เป็นพื้นฐานทางจิตใจอยู่อย่างหนักแน่น จึงจะสามารถทนลำบาก ทนตรากตรำกายใจ อบรมสั่งสอนและแม้เคี่ยวเข็ญศิษย์ให้ตลอดรอดฝั่งได้ อีกประการหนึ่ง จะต้องยอมเสียสละความสุขและประโยชน์ส่วนตัวเป็นอันมาก เพื่อมาทำหน้าที่เป็นครู ซึ่งทราบกันดีแล้วว่า ไม่ใช่ทางที่จะแสวงความร่ำรวย ยศศักดิ์ หรืออำนาจความเป็นใหญ่แต่ประการหนึ่งประการใดให้แก่ตนได้เลย... การบำเพ็ญความดีของท่านถึงหากจะมิได้รับประโยชน์ตอบแทนเหมือนผู้อื่นก็ตาม แต่ก็ได้รับความเย็นใจ ปลื้มใจ และความเคารพรักใคร่จากศิษย์ในที่ทุกทุกแห่งทุกวงการ ซึ่งเป็นความสุขทางจิตใจอย่างพิเศษที่ผู้ใดที่มิได้เป็นครูจะหาอย่างท่านได้ยากยิ่ง...” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่า สิ่งตอบแทนที่ครูจะได้รับนั้น อาจจะไม่ใช่ตัวเงินหรือสิ่งของใดๆ หากแต่เป็นความสำเร็จของศิษย์ และครูมีหน้าที่ช่วยผลิตบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาติ ซึ่งถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับครู ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูอาวุโส เมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2521ความตอนหนึ่งว่า “...งานของครูนั้นเป็นงานพิเศษ ที่จะหวังผลตอบแทนเหมือนงานอื่นๆ ได้โดยยาก ผลตอบแทนที่สำคัญย่อมเป็นผลทางใจ ได้แก่ ความปีติชุ่มชื่นใจที่ได้ฝึกสอนคนให้ได้ดีมีความเจริญประการหนึ่ง กับได้ผูกพันจิตใจคนเป็นพันเป็นหมื่นไว้ได้อย่างแน่นแฟ้นอีกประการหนึ่ง ผลตอบแทนเช่นนี้ เมื่อมองดูให้ลึกซึ้งแล้วย่อมจะเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และประเสริฐกว่ายศศักดิ์ อำนาจและประโยชน์ทางวัตถุอื่นๆ มากมายนัก ครูจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องแสวงหาความพอใจในประโยชน์อื่นทางวัตถุจนเกินจำเป็น เพราะถ้าหากหันไปหาประโยชน์ทางวัตถุกันแล้ว ก็จะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่...” แด่ครูในอนาคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำริว่า การที่เด็กจะดีและเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้นั้น ครูเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะถ่ายทอดความรู้สู่ศิษย์และเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ดังพระบรมราโชวาทในงานพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2508ความตอนหนึ่งว่า “...ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้ จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า ท่านทั้งหลายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านออกไปเป็นครู ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จโดยสมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจจริง... ข้าพเจ้าขอฝากข้อคิดในการปฏิบัติงานแก่ท่านว่า การสอนให้นักเรียนมีความรู้ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือจะต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักพิจารณานำความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ถูกต้อง เหมาะสมแก่งานด้วย การศึกษาที่ให้ทั้งวิชาการและวิธีใช้วิชาโดยถูกต้องเช่นนี้ จึงจะเป็นการศึกษาที่ดีที่ทำให้บุคคลและการงานของเขาเจริญก้าวหน้าได้อย่างแท้จริง...”